ทำไม? เทศกาลดนตรีระดับโลก “ทูมอโรว์แลนด์” เล็ง “ไทย” หมุดหมายจัดงานใหญ่

กระทั่งรัฐบาล “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี ได้โพสต์ภาพลงสื่อสังคมออนไลน์ถึงการเจรจากับทีมงาน ซีอีโอ เจ้าของผู้จัดงานทูมอโรว์แลนด์ โดยมี “นักธุรกิจใหญ่” ของไทยอยู่ในเฟรมด้วย พร้อมประกาศว่า เทศกาลดนตรีระดับโลก “ทูมอโรว์แลนด์” เล็งจัดงานที่ไทย และไม่ใ่ช่แค่ 1 ปี แต่จะเป็นงานสำคัญที่จัดทุกปีต่อเนื่องกัน 10 ปีด้วย

พลันที่เป็นข่าว กลับมากระแสตามมา 2 ด้าน คือยังไม่สรุป รัฐบาลหน้าแตกบ้าง และมีการลงนามความร่วมมือกันแล้ว เป็นต้น

ทำไม? เทศกาลดนตรีระดับโลก “ทูมอโรว์แลนด์” เล็ง “ไทย” หมุดหมายจัดงานใหญ่

  • ทำไม “ทูมอโรว์แลนด์” ต้องจัดที่ไทย?

หากยึดแพลตฟอร์มหลักของเทศกาลดนตรีอีดีเอ็มสุดยิ่งใหญ่อย่าง “ทูมอโรว์แลนด์” จะมีการกระจายจัดงานไปยังทวีปต่างๆ เพียง 1 ประเทศเท่านั้น นอกเหนือจากแหล่งกำเนินที่เมือง Boom ประเทศเบลเยี่ยม

โดยเอเชีย เจ้าของ และผู้จัดงานเล็งจุดหมายปลายทางไว้คือ “ประเทศไทย” จากตัวเลือกมีทั้งจีน อินเดีย และเกาหลีใต้ เป็นต้น

กรุงเทพธุรกิจ พูดคุยกับ เกรียงไกร กาญจนโภคิน ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเคยร่วมอยู่ในวงการเจรจากับทูมอโรว์แลนด์มาแล้ว ในยุคที่สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็ป เป็นเจ้าภาพในการเจรจา

ประโยคที่ Bruno Vanwelsenaers แม่ทัพของทูมอโรว์แลนด์เคยให้เหตุผลเพราะ “มีดีเอ็นเอที่เหมือนกัน” ขยายความคืองานมีผู้เข้าร่วมหลากหลายเชื้อชาติ เฉกเช่นกับงานระดับโลกอื่นๆ เช่น ฟุตบอลโลก โอลิมปิก และเวิลด์ เอ็กซ์โป เป็นต้น ที่สำคัญทูมอโรว์แลนด์ ยังได้รับการรับรองจากองค์การสหประชาชาติ(UN) เป็นเทศกาลดนตรีที่มีความหลากหลายของผู้คนชาติต่างๆที่เข้าร่วมเช่นกัน ซึ่งหากพิจารณาข้อมูลของงานจะพบว่านักท่องเที่ยวกว่า 200 ประเทศที่ต้องไปรวมตัวกันตื๊ดๆที่ทูมอโรว์แลนด์

ทำไม? เทศกาลดนตรีระดับโลก “ทูมอโรว์แลนด์” เล็ง “ไทย” หมุดหมายจัดงานใหญ่

ดังนั้น หากงานทูมอโรว์แลนด์ จัดที่จีน อินเดีย หรือเกาหลีใต้ นักท่องเที่ยวที่เข้าร่วมงาน “ส่วนใหญ่” อาจเป็นคนในชาติ ซึ่งไม่ตอบโจทย์ด้านความหลากหลาย เมื่อเทียบกับไทย ประชากร 60 กว่าล้านคน แต่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาช่วงพีคสุดทะลุ 40 ล้านคน ถือว่าตอบโจทย์ไม่น้อย

  • จิ๊กซอว์ที่ไม่เคยเกิด ได้เห็นแล้ว “เอกชนคุยเอกชน”

ข่าวทูมอโรว์แลนด์จะจัดในไทย เป็นข่าวมาร่วมทศวรรษ ทำไมยังไม่เกิด “เกรียงไกร” เล่าว่า ในยุคทีเส็ปเป็นเจ้าภาพเจรจานั้น “จิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญ” ที่ไม่เคยเกิดขึ้นเลยคือ “ภาคเอกชน” ที่จะแอ๊คชั่น สนใจการจัดงานนี้ ที่ผ่านมา มีเพียงการเข้าไป “ร่วมรับฟัง” เป็นข้อมูลเท่านั้น แต่ไม่มีการดำเนินการต่ออย่างจริงจัง ทำให้ทุกอย่างหายเข้ากลีบเมฆ

ส่วนรัฐบาล “เศรษฐา” ที่เห็นชัดคือการเจรจาของ 2 ฝ่าย ในส่วนของ “เอกชนกับเอกชน” เป็นรูปธรรมมากสุด นั่นก็คือ “เจ้าสัวคีรี กาญจนพาสน์” แห่งบีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ที่ถ่ายรูปร่วมเฟรมกับ Bruno และทีมงานทูมอโรว์แลนด์ รวมถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา “สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล” โดยฝั่งเอกชนยังมี “กวิน กาญจนพาสน์” ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของ “คีรี” และ “ปรินทร์ โลจนะโกสินทร์” แห่งแพลน บี เป็นต้น

เมื่อเอกชนหารือกันแล้ว เอกชนไทยจะเป็นฝ่ายจะหารือกับภาครัฐ เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ต่างๆที่เกิดจากการลงทุน 

ทำไม? เทศกาลดนตรีระดับโลก “ทูมอโรว์แลนด์” เล็ง “ไทย” หมุดหมายจัดงานใหญ่

 

  • เครือข่าย “เจ้าสัวคีรี” ปึ้กทั้ง “การเมือง-ทุนหนา”

ปฏิเสธไม่ได้ว่า เมื่อ “เอกชน” ทั้ง 2 ฝ่ายหารือกันเรียบร้อย สปอตไลท์ส่องตรงไป จะเห็นว่าความปึ้ก! มีอยู่รอบด้าน ทั้งเครือข่ายความร่วมมือหรือคอนเน็คชั่นกับพันธมิตร เครือข่ายการเมืองแข็งแกร่ง ที่สำคัญ “เงินทุนหนา” สามารถทำให้สานงานให้เป็นจริงได้

อย่างไรก็ตาม อีกปมที่การเจรจาในอดีต “ไม่ลงตัว” เกิดจากการหาทำเล พื้นที่การจัดงานทูมอโรว์แลนด์ด้วย ซึ่งฝั่งผู้จัดงาน “จิ้ม” พื้นที่ที่ค่อนข้างเป็นไปได้ยาก ภายใต้เงื่อนไขต้องเป็นพื้นที่ ที่ดินของภาครัฐเท่านั้น อย่างพื้นที่ของกองทัพเรือที่อำเภอสัตหีบ ชลบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ ใช้สำหรับการซ้อมรบของไทย เป็นต้น สอดคล้องกับทูมอโรว์แลนด์ จัดที่เมือง Boom ประเทศเบลเยี่ยม ซึ่งอยู่ใน “วนอุทยาน De Schorre”

“ในฐานะที่เคยอยู่ในวงการพูดคุยถึงการดึงเทศกาลดนตรีระดับโลกอย่างทูมอโรว์แลนด์มาจัดที่ไทย จิ๊กซอว์แรกที่ไม่เกิดขึ้นคือการถามหาภาคเอกชนของไทยคือใครเป็นเจ้าภาพ เอาจริงหรือไม่ ซึ่งเป็นความไม่ลงตัวทางธุรกิจ จึงทำให้ไปไม่ถึงไหน แต่นี่เป็นครั้งแรกที่รู้สึกว่าภาคเอกชนเอาจริง มีการแอ๊คชั่นเกิดขึ้น จึงมีข่าวการเอ็มโอยูเกิดขึ้น และภาคเอกชนกลุ่มนี้มีเน็ตเวิร์คที่สตรองด้วย ส่วนสถานที่ๆที่ได้จัดงานที่ผ่านมาไม่ลงตัว หาเป็นสิบปี ต้องเป็นพื้นที่ของภาครัฐเท่านั้น ซึ่งฝั่งไทยให้ไม่ได้ แต่ครั้งนี้โมเดลอาจเปลี่ยน”

ทำไม? เทศกาลดนตรีระดับโลก “ทูมอโรว์แลนด์” เล็ง “ไทย” หมุดหมายจัดงานใหญ่

สำหรับทำเลของการจัดงาน แหล่งข่าวในวงการธุรกิจให้ข้อมูลว่าเปลี่ยนจากอำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ไปยังพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญของไทยอีกแห่งอย่าง “หัวหิน” ซึ่งที่สุดแล้ว หากโปรเจคเกิดจริง คงมีประกาศเป็นทางการว่าเมืองท่องเที่ยวใด จะได้รับอานิสงส์

 

  • เศรษฐกิจจะยิ่งใหญ่กว่า SWIFT Economy

หากทูมอโรว์แลนด์จัดในไทย เศรษฐกิจจะเติบใหญ่เพียงใด “เกรียงไกร” ระบุว่า สามารถประเมินมูลค่าจากการขายบัตร การซื้อตั๋วเครื่องบิน เข้ามาพำนัก กินอยู่ ใช้จ่ายในประเทศไทยเป็นเวลาหลายวัน ซึ่งหากเทียบเคียงกับปรากฏการณ์ SWIFT Economy ของนักร้องดัง “เทย์เลอร์ สวิฟต์” ที่จัดเป็นรายประเทศ เชื่อว่าจะมีขนาดใหญ่กว่าค่อนข้างมาก ด้วยขนาดของงาน จำนวนคนเข้าร่วมงานระดับ “แสนคน” (แต่ละปีทูมอโรว์แลนด์ที่เมือง Boom จะมีคนเข้าร่วมระดับ 4 แสนคน) และต้องสนุก มันส์กับเทศกาลดนตรีอีดีเอ็มเป็นเวลาหลายวัน

นอกจากผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจ จะช่วยยกระดับงานเทศกาลดนตรีของไทยมีความเป็นอินเตอร์เนชั่นแนลมากขึ้น สอดคล้องกับแนวทาง หรือนโนบายด้านซอฟต์พาวเวอร์ของภาครัฐ 3 ด้าน คือการผลักดันของเก่า ของเดิมให้ดี มีคุณภาพมากขึ้น เช่น งานวัฒนธรรม ประเพณีต่างๆ อย่างลอยกระทง สงกรานต์ แห่เทียนฯ การส่งเสริมเทศกาลดนตรีของไทยให้ยิ่งใหญ่กว่าเดิม และการดึงงานจากต่างประเทศซึ่งเป็นแพลตฟอร์มสำเร็จรูปต่อยอดได้ทันที ทำให้ไทยผงาดโลกได้

เหล่านี้เป็นเพียงมุมมองของผู้เคยผ่านการอยู่ในวงเจรจามาแล้ว ซึ่งยังต้องติดตามต่อว่า “ทูมอโรว์แลนด์” พร้อมประกาศจัดงานที่ไทยเมื่อไหร่ ที่ไหนและจะยิ่งใหญ่อลังการแค่ไหน