นั่นเพราะสถานการณ์ทางการเมือง รวมทั้ง “แนวโน้ม” อนาคตทางการเมือง อย่างน้อยที่สุดหลังเลือกตั้งทั่วไปสมัยหน้า “เกมแห่งอำนาจ” ยังอยู่ในมือของ “บิ๊กป้อม” และ 3 ป. นั่นเอง ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ จะอยู่ในจุดไหนก็ตาม ต้องละเอาไว้ในฐานที่เข้าใจว่า ยังมีส่วนกับเกมแห่งอำนาจอยู่ดี
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นกระแสข่าว “ดีลพิเศษ” ระหว่าง “ทักษิณ” กับ “บิ๊กป้อม” ที่มีมาตั้งแต่ช่วง “สภาล่ม” จนกฎหมายว่าด้วย ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ หรือ แบบบัญชีรายชื่อ สูตร 500 หาร ซึ่งจะทำให้พรรคเล็กได้ ส.ส. ขณะที่พรรคใหญ่มีโอกาสที่จะไม่ได้ ส.ส. เลย คล้ายหลังเลือกตั้งปี 62 ที่พรรคเพื่อไทยไม่ได้ ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์
ต้องกลับมาใช้สูตร 100 หาร ตามความต้องการของพรรคเพื่อไทย หลังจากเกิด “สภาล่ม” เนื่องจาก ส.ส. เข้าประชุมสภาผู้แทนฯไม่ครบองค์ประชุม ครั้งนั้น ทำเอา ส.ส. พรรคเล็กถึงกับ “งง” การตัดสินใจของพรรคพลังประชารัฐ ที่มีส่วนทำให้ “สภาล่ม” ทั้งที่ “คู่แข่งทางการเมือง” อย่างพรรคเพื่อไทย ได้ประโยชน์ คือ มีโอกาสได้ ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ บวกเพิ่ม ถ้าใช้สูตร 100 หาร แต่มันก็เป็นไปแล้ว
จนมีการวิเคราะห์กันว่า “ดีล” เดินหน้าแล้ว เพียงแต่ “อีกฝ่าย” จะได้อะไร เท่านั้นเอง
กระทั่งมีกระแสข่าว “นายกฯคนนอก” ท่ามกลาง “ปม 8 ปี” พล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งนายกฯครบตามรัฐธรรมนูญกำหนดแล้วหรือไม่ ซึ่งพรรคฝ่ายค้านยื่นเรื่องต่อประธานรัฐสภา เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และนั่นทำให้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์ อยู่บนความไม่แน่นอนทันที
ยิ่งต่อมา ศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องไว้พิจารณา และมีมติ 5 ต่อ 4 ให้พล.อ.ประยุทธ์ “หยุดปฏิบัติหน้าที่” จนกว่าจะมีคำวินิจฉัย ก็ยิ่งทำให้กระแส “นายกฯคนนอก” ร้อนแรงขึ้น
ประเด็นอยู่ที่ว่า “นายกฯคนใน” หรือ คนที่อยู่ในบัญชีรายชื่อพรรคการเมือง อาจยังไม่มีเสียงสนับสนุนในสภาเพียงพอ หลายคนจึงมองไปที่ ตัวแทน “พล.อ.ประยุทธ์” ซึ่งก็คือ “พล.อ.ประวิตร” นั่นเอง
แต่การยกเว้น “นายกฯจากบัญชีรายชื่อ” และ การโหวตเลือก “นายกฯคนนอก” ต้องใช้เสียงส.ส.จำนวนมาก ทำให้มีความจำเป็นที่ต้องใช้เสียงพรรคฝ่ายค้านร่วมด้วย โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย ซึ่งมีส.ส.มากพอที่จะช่วยได้
ทั้งนี้ เป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่ว่า กรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ไม่ว่าด้วยเหตุใด และสมาชิกของทั้งสองสภารวมกันจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาเข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภาขอให้รัฐสภามีมติยกเว้นเพื่อไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ในกรณีเช่นนั้น ให้ประธานรัฐสภาจัดให้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาโดยพลัน และในกรณีที่รัฐสภามีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาให้ยกเว้นได้ ให้ดำเนินการตามวรรคหนึ่งต่อไป โดยจะเสนอชื่อผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 หรือไม่ก็ได้”
นี่คือ “ดีลพิเศษ” ที่มีการวิเคราะห์ แม้ว่า ทั้งสองฝ่ายจะออกมาปฏิเสธว่า ไม่เป็นความจริงก็ตาม
ความจริง ก่อนหน้านั้น ช่วงการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีรายบุคคลของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ที่ทำให้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ขณะนั้น ต้องขัดแย้งกับ พล.อ.ประยุทธ์ อย่างรุนแรง นัยว่า สาเหตุสำคัญเนื่องมาจาก “ดีลล้มนายกฯ” เช่นกัน ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า ร.อ.ธรรมนัส คือ มือไม้ทางการเมืองของพล.อ.ประวิตร ที่จนวันนี้ก็ยังมีกระแสข่าวว่า พร้อมกลับพรรคพลังประชารัฐ เพื่อหนุน “พล.อ.ประวิตร” ขึ้นนายกฯอยู่ด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้โอกาสของ “นายกฯคนนอก” ถูกปิดลง หลังจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ ยังเป็นนายกฯไม่ครบ 8 ปี แต่ที่หลายคนสังเกตเห็นก็คือ ช่วงพล.อ.ประวิตร นั่งรักษาการแทนนายกรัฐมนตรี ขณะพล.อ.ประยุทธ์ ถูกศาลฯสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่นั้น เต็มไปด้วยชีวิตชีวา ดูมีพลังพิเศษออกมาให้เห็น เดินเหินไม่ต้องมีใครประคองเหมือนช่วงเป็นรองนายกฯ แถมเจ้าตัวออกมาให้สัมภาษณ์ว่า “ใจบันดาลแรง” ทำเอาเป็นที่ฮือฮาอยู่พักใหญ่
ที่สำคัญ หลายคนเชื่อว่า “บิ๊กป้อม”พล.อ.ประวิตร ชื่นชอบและมีความสุขกับตำแหน่งนายกฯอยู่เหมือนกัน และทำให้เห็นว่า ตัวเองก็เป็นนายกฯได้?
ไม่แปลกที่กระแสข่าว “ดีลจัดตั้งรัฐบาลล่วงหน้า” ระหว่าง “พรรคเพื่อไทย” กับ “พรรคพลังประชารัฐ” จะเกิดขึ้นตามมา
ประเด็นก็คือ ในการเลือกตั้งครั้งหน้า ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ วางมือทางการเมือง อาจเพื่อลดแรงเสียดทาน ที่มีการขับไล่ “เผด็จการ” อย่างรุนแรง และเป้าหมาย ก็คือ พล.อ.ประยุทธ์คนเดียว เนื่องเพราะ พล.อ.ประวิตร กันตัวเอง ออกมาแล้ว ว่าไม่เกี่ยวกับการ “ปฏิวัติรัฐประหาร”(ตอบในสภาฯ) ส่วนจะล้างภาพได้แค่ไหนเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
แต่ที่แน่ๆ “บิ๊กป้อม” ในฐานะตัวแทน “3 ป.” ที่มี “ส.ว.” ส่วนใหญ่ในมือ ก็จะเป็นตัว “กำหนดเกม” รัฐบาลสมัยหน้าทันที
ด้วยเหตุนี้ “วังวน” การเมือง จึงหนีไม่พ้นเงื้อมมือของ “3 ป.” ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะ ป.เดียว หรือ 2 ป. และแม้กระทั่งถ้ายังอยู่ครบทั้ง 3 ป.
ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน คือ ความสัมพันธ์ทางการเมือง ที่ดูเหมือน พล.อ.ประวิตร เข้าได้กับนักการเมืองหลายฝ่ายมากกว่า พล.อ.ประยุทธ์
ไล่เรียงนับแต่ ขึ้นเป็น ผบ.ทบ. ในยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร โดยแรงผลักดันจากหลายส่วน โดยเฉพาะว่ากันว่าได้รับความไว้วางใจจาก “บ้านจันทร์ส่องหล้า” ของ คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์
รวมทั้งการผลักดันจาก “บิ๊กเหวียง” พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร รมว.กลาโหม ขณะนั้น ที่เป็น “บูรพาพยัคฆ์” รุ่นใหญ่
นอกจากนี้ “ทักษิณ” เคยกล่าวในคลับเฮ้าส์ถึงการตั้ง “บิ๊กป้อม” เป็น ผบ.ทบ. ว่า ไม่รู้จัก พล.อ.ประวิตร แต่รู้ว่าเป็นพี่ชายของรุ่นพี่ของตน คือ “บิ๊กป๊อด” พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ที่จบเตรียมทหารรุ่น 9 นายร้อยตำรวจรุ่น 25 เมื่อรู้จักกันดี ก็โอเค จึงตั้ง พล.อ.ประวิตร เป็นแม่ทัพภาคที่ 1 จากนั้นก็ขึ้น ผู้ช่วย ผบ.ทบ. และเป็น ผบ.ทบ.
สำหรับ พล.ต.อ.พัชรวาท ขึ้นเป็น ผบ.ตร. สมัยนายสมัคร สุนทรเวช เป็น นายกฯ จากพรรคพลังประชาชน ซึ่งก็โยงสายสัมพันธ์กับพรรคเพื่อไทยมาก่อน
ในสมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ พล.อ.ประวิตร ได้รับเทียบเชิญจาก นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในฐานะผู้จัดการรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ให้มาดำรงตำแหน่ง รมว.กลาโหม ยิ่งทำให้พล.อ.ประวิตร ได้เชื่อมสัมพันธ์กับการเมืองฝั่งพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทย และได้ร่วมครม.กับบรรดาแกนนำหลายพรรคยุคนั้น
ยิ่งกว่านั้น “บิ๊กป้อม” ยังเป็นจุดสำคัญที่ทำให้นายทหาร “สายบูรพาพยัคฆ์” รุ่นน้องผงาดใน ทบ. ตามมาด้วย หนึ่งในนั้นคือ “พี่รอง-น้องเล็ก” อย่าง “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ได้ขึ้นเป็น ผบ.ทบ. ในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ และปูทางให้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้เป็น ผบ.ทบ. ตามมาด้วย
ด้วยบารมีทางการเมืองดังกล่าว ทำให้ พล.อ.ประวิตร คือ “ผู้จัดการรัฐบาล” ตัวจริง ใน “ยุค คสช.” และสร้าง “พรรคพลังประชารัฐ” ในเวลาต่อมา โดยรวบรวม ส.ส.บ้านใหญ่ หลายมุ้งมารวมกัน เพื่อผลักดัน พล.อ.ประยุทธ์ ขึ้นเป็น นายกฯ อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
เมื่อเป็นเช่นนี้ ใครที่คิดว่า “ดีล” ระหว่าง “ทักษิณ-เพื่อไทย” กับ “บิ๊กป้อม-พลังประชารัฐ” เป็นไปไม่ได้ ก็อาจต้องกลับไปคิดดูใหม่ อย่าลืมว่า “มุ้ง” ส่วนใหญ่ในพรรคพลังประชารัฐ ก็คือ “อดีตมุ้ง” ในพรรคไทยรักไทย ที่เคยทำงานร่วมกับ “ทักษิณ” มาก่อน
นอกจากนี้ ถ้าจับสัญญาณจาก “ทักษิณ” ดูเหมือนค่อนข้างมั่นใจว่า ใกล้เวลาที่จะได้กลับบ้าน หมายความว่าอย่างไร แค่ช่วยหาเสียงให้พรรคเพื่อไทย หรือ มี “ดีลพิเศษ” กับผู้มีอำนาจหรือไม่?
“ตอนนี้ผมเป็นคุณปู่ป้ายแดงแล้ว มีหลาน 6 คน เลยอยากกลับไปเลี้ยงหลาน ตอนนี้น่าจะใกล้ถึงเวลาแล้ว กลับแน่”
“ทักษิณ” กล่าวผ่านรายการ CareTalk Care Clubhouse หัวข้อ พวกเธอมานี่ ‘พี่โทนี่’ จะรีวิวหนังสืออออออ!! เมื่อวันที่ 26 ตุลาคมที่ผ่านมา
และแม้แต่ กรณี รงค์ บุญสวยขวัญ ส.ส.นครศรีธรรมราช และกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์ “พรรคพลังประชารัฐ” เตรียมจัดทัพใหม่สู้ศึกเลือกตั้ง ไม่ใช่ผูกติดกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างเดียว ถ้าอยู่ต่อได้ 2 ปี อาจจะ “หมดที่ลุงตู่ สู่ลุงป้อม”
นั่น มีความหมายเกินกว่าใครจะนำเอาไป “ปรามาส” ได้ เพราะอย่าลืม ใคร มี“เสียงโหวต”นายกรัฐมนตรีเอาไว้ในมือแล้ว “250 เสียง”?
สิ่งที่น่าวิเคราะห์ก็คือ การที่พรรคเพื่อไทยมีท่าทีที่เป็นมิตรกับพรรคพลังประชารัฐมากขึ้น เห็นได้ชัด กรณีไม่ร้องยุบพรรค ทั้งที่เป็นโอกาสดี มาเข้าทาง หลังพบว่า เจ้าของผับดังย่านยานนาวา นายชัยณัฐร์ กรณ์ชายานันท์ หรือ “หาวเจ๋อตู้” ถูกตำรวจบุกทลายปาร์ตี้ยาเสพติด ทั้งยังตรวจสอบพบว่า มีชื่อบริจาคเงินให้พรรคพลังประชารัฐ จำนวน 3 ล้านบาทเมื่อปี 2564 จนเข้าข่ายคดี “ยุบพรรค”
โดย นายแสวง บุญมี เลขาธิการกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และนายทะเบียนพรรคการเมือง ชี้ประเด็นว่า มี 3 เรื่องต้องพิจารณา คือ 1.ผู้บริจาคมีสิทธิ์บริจาคหรือไม่ โดยดูจากตัวเลขตามบัตรประจำตัวประชาชน พบว่าเป็นผู้มีสัญชาติไทย ซึ่งถือว่า เป็นผู้ที่สามารถบริจาคเงินให้กับพรรคการเมืองได้
2.จำนวนเงินที่บริจาค พบว่าอยู่ในเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด และ3.พรรคผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รู้หรือควรจะรู้ว่า แหล่งที่มาของเงินชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ตรงนี้อยู่ในชั้นสำนักงานฯ กำลังดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ เมื่อตรวจสอบแล้วก็จะมีการทำเรื่องเสนอมายังนายทะเบียนพรรคการเมือง
นายแสวง ชี้ด้วยว่า ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง กำหนดเรื่องการบริจาคเงินให้กับพรรคการเมืองไว้โดย ต้องไม่เป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 74 จำนวนเงินที่บริจาคต้องไม่เกิน 10 ล้านบาท ซึ่งทั้ง 2 เกณฑ์ กกต.จะตรวจสอบตามมาตรฐาน โดยเมื่อทุกพรรคการเมืองได้รับบริจาค ก็จะตรวจสอบเบื้องต้นว่า ผู้บริจาคเป็นผู้ที่สามารถบริจาคเงินให้กับพรรคได้หรือไม่ และเงินที่บริจาคอยู่ในเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ ก่อนที่พรรคจะติดประกาศรายละเอียดการรับบริจาคไว้ ณ ที่ทำการของพรรค และส่งให้สำนักงาน กกต. ประกาศให้สาธารณชนทราบต่อไป เมื่อมีกรณีเป็นที่สงสัยของประชาชนสำนักงาน กกต.ก็จะดำเนินการตรวจสอบให้ความเป็นธรรมทั้งกับพรรคและตัวผู้บริจาคเอง ซึ่งขณะนี้เรื่องดังกล่าวอยู่ระหว่างดำเนินการ
เมื่อถามว่า พรรคการเมืองรู้ภายหลังว่า เงินที่ได้รับมาไม่ถูกต้องจะสามารถดำเนินการแก้ไขได้หรือไม่ นายแสวง กล่าวว่า ตัวกฎหมายเขียนไว้ชัดอยู่แล้วผลการตรวจสอบเป็นอย่างไร ต้องเป็นไปตามกฎหมาย ขอให้ได้ข้อเท็จจริงว่าเป็นอย่างไรก่อน ขอให้ประชาชนสบายใจ ยืนยัน กกต. ปฏิบัติเหมือนกันทุกพรรค และขอตรวจสอบให้ได้ข้อเท็จจริงก่อนว่าเป็นอย่างไร
ทั้งนี้แม้ว่านายสมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำพรรคพลังประชารัฐ จะเห็นว่า เงินนี้เข้ามาตามตรอกออกตามประตู เราก็ไม่ได้คิดว่าได้เงินมาจากไหนอย่างไร
เมื่อถามว่า พปชร.ไม่ได้รู้จักกับนายชัยณัฐร์เป็นการส่วนตัวใช่หรือไม่ นายสมศักดิ์ ยืนยันว่า ไม่รู้จักเป็นการส่วนตัวแน่นอน ถ้ามีก็ถูกยุบพรรค
ถามว่า ขณะนี้ข่าวกระจายไปแล้วว่า มีการเชื่อมโยงกับคนในพรรคพลังประชารัฐ นายสมศักดิ์ตอบว่า ข่าวก็มีได้ทุกวัน เมื่อมีเราก็ตรวจสอบ สอบถาม ซึ่งเราสอบถามกับสมาชิกของเราแล้วก็ไม่มีใครสนิทเป็นพิเศษ เขาอาจจะศรัทธาในแนวนโยบายพรรคก็เลยบริจาค ซึ่งก็มีหลายคนที่บริจาคให้กับพรรค พอตรวจสอบแล้วก็ไม่ได้พบผิดปกติอะไร
แต่ก็ยังถือว่า ไม่หลุดพ้นจากคดีเสียทีเดียว เว้นแต่บทสรุปของ กกต.จะเห็นว่า ไม่ผิด?
ส่วน เหตุผลที่พรรคเพื่อไทย ไม่ยื่นยุบพรรคพลังประชารัฐ นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย เห็นว่า พรรคเพื่อไทย เจ็บปวดกับการใช้การยุบพรรคเป็นเครื่องมือทางการเมือง พรรคถูกยุบ มีผลให้สมาชิกพรรคเป็นหมื่นเป็นแสนคนต้องสิ้นสภาพสมาชิกไปด้วย จึงเห็นว่าการยุบพรรคควรมีกรณีเดียวเท่านั้น คือการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข กรณีอื่นๆ ให้เป็นความรับผิดชอบของผู้บริหารพรรค…
จริงอยู่,นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ยืนยันว่า หากการเลือกตั้งครั้งหน้า พรรคเพื่อไทยแลนด์สไลด์ได้ 250 คะแนนขึ้นไป ก็จะมีสิทธิ์กำหนดว่าจะร่วมมือกับพรรคการเมืองใด โดยมีเงื่อนไข คือ
1.ต้องมีทิศทางอุดมการณ์การทำงานเช่นเดียวกับพรรคเพื่อไทย
2. ไม่เลือกพรรคที่สนับสนุนเผด็จการและสนับสนุน พล.อ. ประยุทธ์ อย่างแน่นอน
3. การทำงานร่วมกัน โดยต้องนำนโยบายมาสอดประสานว่าจะทำงานร่วมกันในแต่ละกระทรวงได้หรือไม่
แต่ประเด็นก็คือ พรรคเพื่อไทย จะได้รับเลือกตั้งถึง 250 ที่นั่งหรือไม่
ขณะที่ “พรรคก้าวไกล” ซึ่งเป็นพันธมิตรฝ่ายค้าน และฝ่ายประชาธิปไตย ประกาศนโยบาย แก้ไข ป.อาญาม.112 และปฏิรูปสถาบันฯอย่างท้าทาย จนเป็นเหตุให้หลายพรรคออกมาแสดงจุดยืนเช่นกัน ว่า ไม่เห็นด้วยที่จะแก้ไขม.112 นอกจากนี้พรรคภูมิใจไทย และประชาธิปัตย์ ยังประกาศที่จะไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรคที่มีโยบายแก้ไขม.112 ด้วย
ทำให้พรรคเพื่อไทย ถูกบังคับให้เลือกข้างตามไปด้วย แต่พรรคเพื่อไทย ก็ยัง “แทงกั๊ก”เลี่ยงๆว่า ต้องการแก้ไขเรื่องเศรษฐกิจก่อน แต่ก็ไม่ได้แสดงจุดยืนว่า จะแก้ไขม.112 หรือไม่
ดังนั้น เมื่อ “พรรคก้าวไกล” ผูกมัดตัวเองไว้กับ การแก้ไขม.112 และปฏิรูปสถาบันฯ อาจทำให้พรรคเพื่อไทย มีสองทางเลือกในการร่วมจัดตั้งรัฐบาล คือ ไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรคก้าวไกล โดยยกเหตุแห่งการแก้ไขม.112 และปฏิรูปสถาบันฯ ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยเป็นข้ออ้าง หรือ ตัดสินใจร่วมรัฐบาลกับพรรคก้าวไกล โดยอ้างว่า ไม่ได้ปฏิเสธการแก้ไขม.112 ซึ่งขึ้นอยู่กับ “สภาฯ” จะหารือกัน อย่างที่ “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เคยให้สัมภาษณ์สื่อบางสำนักเอาไว้
แต่สุดท้าย ตัวแปรสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาล และโหวตนายกรัฐมนตรี ก็ยังเป็นตัวติดสินโฉมหน้ารัฐบาลอยู่ดี
นั่นคือ ตามมาตรา 159 รัฐธรรมนูญ 2560 บัญญัติไว้ว่า “ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีจากบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 และเป็นผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 เฉพาะจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่มีสมาชิกได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่าร้อยละห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร
การเสนอชื่อตามวรรคหนึ่งต้องมีสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร
มติของสภาผู้แทนราษฎรที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรี ต้องกระทำโดยการลงคะแนนโดยเปิดเผย และมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร”
ขณะที่มาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญ บัญญัติว่า “ในระหว่างห้าปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ การให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้ดำเนินการตามมาตรา 159 เว้นแต่การพิจารณาให้ความเห็นชอบตามมาตรา 159 วรรคหนึ่ง ให้กระทำในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา และมติที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 159 วรรคสาม ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา(750 คน)
ประเด็น ก็คือ ถ้า “ทักษิณ-เพื่อไทย” ฝันที่จะเป็นรัฐบาลอันดับแรก “แลนด์สไลด์” ยังไม่พอ ต้องให้ได้มากกว่า 250 ที่นั่ง
ถ้าไม่เช่นนั้น “ตัวแปร” สำคัญจะอยู่ที่ “จำนวนส.ว.250 เสียง” และกลุ่ม 3 ป.เช่นเดิม
เช่นนี้แล้ว “ฝัน” ของ “ทักษิณ-เพื่อไทย” ที่จะเป็นรัฐบาลในการเลือกตั้งครั้งหน้า ก็ยังขึ้นอยู่กับ “บิ๊กป้อม” และ 3 ป.ว่าจะ “ดีล” ด้วยหรือไม่ นั่นเอง