“พายุโนรู” พัดเข้าไทย ชวนส่อง “ระบบแจ้งเตือนภัยพิบัติ” ของไทย vs ต่างประเทศ

คืนนี้คนไทยเตรียมตัว! “พายุโนรู” กำลังจะเข้าไทย ขณะที่ประเทศไทยเพิ่งจะมี “ระบบแจ้งเตือนภัยพิบัติ” ผ่านทางมือถือ ได้ไม่นานนัก แต่รู้หรือไม่? ในหลายๆ ประเทศทั้งในเอเชีย ยุโรป และสหรัฐอเมริกา ต่างก็มีการใช้งานระบบเตือนภัยดังกล่าวมานานแล้ว กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนทำความรู้จัก “ระบบแจ้งเตือนภัยพิบัติ” ของประเทศต่างๆ ว่ามีความเหมือนหรือต่างจากของไทยแค่ไหน?

ก่อนอื่น มีรายงานอัปเดตล่าสุดเกี่ยวกับเส้นทาง “พายุโนรู” จากกรมอุตุนิยมวิทยา ในประกาศฉบับที่ 14 ระบุคาดการณ์ว่า พายุโซนร้อนโนรูจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชัน และจะเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง บริเวณ “จังหวัดอำนาจเจริญ” และ “อุบลราชธานี” ในคืนนี้

ส่งผลทำให้มีฝนตกหนักหลายพื้นที่ และมีฝนตกหนักมากบางแห่ง โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คืนนี้อาจมีฝนตกบริเวณกว้างใน 14 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี, อำนาจเจริญ, ยโสธร,  มุกดาหาร, ร้อยเอ็ด, ศรีสะเกษ, สุรินทร์, บุรีรัมย์, นครราชสีมา, มหาสารคาม, ขอนแก่น, สกลนคร, อุดรธานี, ชัยภูมิ

สำหรับระบบการแจ้งเตือนภัยพิบัติของประเทศไทยนั้น พบว่ามีการแจ้งเตือนผ่านทางการส่งข้อความ sms แล้ว โดยชาวเน็ตบางคนได้โพสต์ตัวอย่างข้อความการแจ้งเตือนภัยพิบัติผ่านsms ระบุว่า “ระวัง 27-29 ก.ย. พายุโนรูเข้าอีสานล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออก มีฝนหนักมาก-น้ำท่วม/อุตุฯ”

“พายุโนรู” พัดเข้าไทย ชวนส่อง “ระบบแจ้งเตือนภัยพิบัติ” ของไทย vs ต่างประเทศ
อีกทั้งมีรายงานจากเพจ “ไทยคู่ฟ้า” ระบุว่ารัฐบาลไทยได้ตั้งวอร์รูมเพื่อรับมือพายุไต้ฝุ่นโนรู โดยเปิดศูนย์ติดตาม ประเมิน และตรวจสอบสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ตั้งแต่วันที่ 26 ก.ย. ที่ผ่านมา และรู้หรือไม่? ประเทศไทยมีแอปฯ สำหรับแจ้งเตือนภัยพิบัติที่จัดทำขึ้นมาโดยเฉพาะอีกด้วย

ระบบแจ้งเตือนภัยพิบัติ ประเทศไทย THAI DISASTER ALERT

นอกจากการแจ้งเตือนภัยผ่าน sms แล้ว เมื่อต้นปี 2565 ที่ผ่านมา กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ก็ได้พัฒนาแอปพลิเคชัน “THAI DISASTER ALERT” ขึ้นมา ใช้ในการแจ้งเตือนสาธารณภัยที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ ทั่วไทย ให้ประชาชนดาวน์โหลดได้ฟรี (ทั้ง Android และ IOS) โดยมีจุดเด่นในการแจ้งเตือนแบบเจาะลึกเข้าถึงเฉพาะพื้นที่ที่คาดว่าจะเกิดภัยพิบัติแบบ Real Time 

การสมัครใช้งานแอปฯ นี้ ทำได้ง่ายๆ เพียง 3 ขั้นตอน คือ 1) ใส่ข้อมูล 2) เลือกพื้นที่ (จังหวัด) ที่จะรับข้อมูล 3) เปิด Location โดยผู้ใช้งานต้องเลือกจังหวัดที่ต้องการได้รับการแจ้งเตือนภัย จำนวน 3 จังหวัด จะเป็นจังหวัดใดก็ได้ หรือตั้งค่าเปิดสิทธิ์ให้แอปฯ เข้าถึงตำแหน่งที่ตั้ง (Location) ของสมาร์ทโฟนได้ทุกพื้นที่ก็ได้เช่นกัน

การทำงานของ “THAI DISASTER ALERT” จะทำการแจ้งเตือนเมื่อจังหวัดที่ผู้ใช้งานได้เลือกไว้มีการคาดการณ์ว่าจะเกิดภัยพิบัติขึ้น โดยระบบจะส่งข้อความแจ้งเตือนภัยให้ผู้ใช้งานทราบทันที ในรูปแบบข้อความแจ้งเตือน Notification บนหน้าจอสมาร์ทโฟน พร้อมทั้งมีเมนูที่แสดงเป็นภาพพื้นที่เสี่ยง (จะขึ้นแถบสีในพื้นที่นั้น) ให้เห็นชัดเจน อีกทั้งมีเมนูที่รวบรวมเบอร์โทรสายด่วนของหน่วยงานต่างๆ ไว้ให้ด้วย 

ระบบแจ้งเตือนภัยพิบัติ J-ALERT ประเทศญี่ปุ่น

ระบบการเตือนภัยของญี่ปุ่นจะมีตั้งแต่ “ระดับเฝ้าระวัง” ซึ่งเป็นการให้ข้อมูลความเสี่ยงในขณะนั้นกับประชาชน เพื่อประกอบการตัดสินใจเตรียมการรับมือ รวมถึงเตือนภัย “ระดับรุนแรง หรือ รุนแรงมาก” จะมีการประกาศเตือนภัยฉุกเฉิน เพื่อการอพยพหรือรับมือขั้นตอนต่างๆ ที่เข้มข้นขึ้น

โดยระบบเตือนภัยดังกล่าวมีชื่อว่า “J-ALERT” เป็นระบบเตือนภัยที่ครอบคลุมทั้งประเทศญี่ปุ่น ระบบนี้จะทำงานสื่อสารกับดาวเทียมใช้ในการแจ้งเตือนและแนะนำข้อควรปฎิบัติแก่ประชาชน ในกรณีที่เกิดเหตุแผ่นดินไหว สึนามิ พายุ น้ำท่วม หรือการยิงขีปนาวุธ ซึ่งระบบดังกล่าวจะบอกประชาชนว่าควรทำอย่างไร? ต้องหนีหรือยัง? หากเป็นกรณีการยิงขีปนาวุธ ระบบจะประเมินว่าจะไปตกที่ไหน บินผ่านตรงไหน จากนั้นจะแจ้งเตือนประชาชนให้เตรียมรับมือ

J-ALERT ไม่ใช่ปรากฏเฉพาะบนจอโทรทัศน์เท่านั้น แต่จะแจ้งเตือนครอบคลุมทุกการสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นลำโพงกระจายเสียงตามท้องถิ่น วิทยุ เว็บไซต์ รวมถึงสมาร์ทโฟน กรณีเกิดแผ่นดินไหว จะมีข้อความเสียงแจ้งเตือน 5-10 วินาที เพื่อให้ประชาชนได้หนีหรือหาที่ปลอดภัย เช่น หลบใต้โต๊ะ หากเป็นน้ำท่วมจะส่งเป็นข้อความที่เป็นทั้งคำเตือนและข่าวเพื่อให้ประชาชนรับทราบ ทั้งนี้ ระดับการเตือนภัยของ J-ALERT แบ่งออกเป็น 5 ระดับตามความเร่งด่วน คือ

  • ระดับ 1 สีขาว : “การแจ้งเตือนล่วงหน้า” บ่งชี้ว่าผู้คนควรตื่นตัวสำหรับการอัปเดตสภาพอากาศ
  • ระดับ 2 สีเหลือง : “คำเตือนฝนตกหนัก/น้ำท่วม/คลื่นพายุ” ให้หลีกเลี่ยงพื้นที่ที่อาจเกิดเหตุ หรือตรวจสอบเส้นทางอพยพ
  • ระดับ 3 สีแดง : “คำเตือนฝนตกหนัก/น้ำท่วม” หรือ “ให้เตรียมอพยพ” ผู้สูงอายุและผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือต้องเริ่มอพยพ
  • ระดับ 4 สีม่วง : “ข้อมูลการแจ้งเตือนดินถล่ม” หรือ “คำสั่งอพยพ” ผู้อยู่อาศัยทุกคนต้องอพยพไปยังที่ปลอดภัยทันที
  • ระดับ 5 สีดำ : “คำเตือนที่ร้ายแรงที่สุด” หรือ “คำเตือนฉุกเฉินฝนตกหนัก” มีแนวโน้มว่าจะเกิดภัยพิบัติร้ายแรง ผู้คนควรใช้ความพยายามทุกวิถีทางเพื่อเอาตัวรอด

นอกจากนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นมีการแนะนำให้ประชาชนเตรียมรับมือจากเหตุภัยพิบัติธรรมชาติ เช่น การเตรียมกระเป๋าฉุกเฉินให้กับสมาชิกแต่ละคนภายในบ้านไว้เสมอ ซึ่งในกระเป๋าก็จะมีของที่จำเป็นในการดำรงชีวิต 3 วัน และมีการจัดเตรียมศูนย์อพยพตามโรงเรียน เป็นต้น


    ภาพจาก : Hokkaidofanclub

 

ระบบแจ้งเตือนภัยพิบัติ EAS ประเทศเกาหลีใต้

สำหรับเกาหลีใต้ มีการใช้ “ระบบเตือนภัยฉุกเฉิน” หรือ Emergency Alert System มานานแล้ว โดยเป็นการส่งแจ้งเตือนทาง sms จากสำนักงานเขตของรัฐบาลกรุงโซล เพื่อให้ประชาชนทราบเหตุการณ์ภัยพิบัติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการยืนยันผู้ป่วยติดเชื้อหรือภัยธรรมชาติ

โดยข้อมูลดังกล่าวได้ผ่านดุลยพินิจของสำนักงานเขต รัฐบาลท้องถิ่น และสำนักงานใหญ่ควบคุมภัยพิบัติและความปลอดภัยกลาง (CDSCHQ) ในการส่งข้อมูลที่ได้รับแจ้งมาและเห็นว่าจำเป็นต้องเตรียมรับมือเหตุฉุกเฉินนั้นๆ ซึ่งจะเป็นการแจ้งเตือนแบบ real-time ผู้ใช้สมาร์ทโฟนจะได้รับข้อความแจ้งเตือนโดยอัตโนมัติ

ตามฐานข้อมูลเหตุฉุกเฉินและภัยพิบัติที่ดำเนินการโดยกระทรวงมหาดไทยและความปลอดภัยของประเทศเกาหลีใต้ ระบุว่า ในช่วงโควิดระบาดใหม่ๆ ช่วงปี 2563 มีการส่งการแจ้งเตือนฉุกเฉินกว่า 3,707 รายการทั่วประเทศ

นอกจากนี้ กระทรวงข้อมูลและการสื่อสารยังมีบริการ “แจ้งเตือนฉุกเฉิน ATSC 3.0” เป็นแห่งแรกของโลก เพื่อแจ้งเตือนเกี่ยวกับภัยพิบัติ เช่น แผ่นดินไหว ฝนตกหนัก ไฟไหม้ ให้ได้เร็วขึ้นผ่านเครือข่ายการออกอากาศ UHD ภาคพื้นดินโดยใช้เทคโนโลยีโทรคมนาคม ทำให้สามารถสำรองข้อมูลเครือข่ายในกรณีที่เครือข่ายรวน และครอบคลุมจุดบอดสัญญาณได้ด้วย

การแจ้งเตือนนี้จะแสดงผลบนจอใหญ่ในที่สาธารณะ (บนรถบัส รถไฟใต้ดิน และบ้านพักคนชรา) สามารถแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินได้อย่างชัดเจนและมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังมีนวัตกรรมรองรับสำหรับผู้บกพร่องทางการได้ยิน ผ่านการใช้เทคโนโลยี “เสียงอ่านคำต่อคำ (TTS)” และสนับสนุนผู้พิการทางสายตาโดยใช้ “บีคอน (Beacon)” ที่เป็นเครื่องสั่นและอ่านออกเสียงเพื่อแจ้งเตือนผู้พิการได้


     ภาพจาก : Kiwis in Korea

 

ระบบแจ้งเตือนภัยพิบัติ SeAFFGS ประเทศเวียดนาม

เมื่อเดือน ส.ค. 2565 เวียดนามเพิ่งถูกกำหนดให้เป็น “ศูนย์กลางภูมิภาค” ในการแจ้งเตือนภัยพิบัติ ผ่านระบบเตือนน้ำท่วมฉับพลันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia Flash Flood Guidance System : SeAFFGS) ซึ่งเป็นการยกระดับการแจ้งเตือนล่วงหน้าสำหรับภัยธรรมชาติครั้งใหญ่ ที่เป็นสาเหตุสำคัญของการสูญเสียชีวิตและความเสียหายต่อทรัพย์สินอันเนื่องมาจากอุทกภัยในภูมิภาคเอเชียตะวันนอกเฉียงใต้ โดยทำหน้าที่เตือนภัยระหว่างประเทศ ไปยัง ไทย สปป.ลาว และกัมพูชา

ระบบ FFGS (Flash Flood Guidance System) ได้รับการสนับสนุนจากพันธมิตรซึ่งประกอบด้วย องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก , หน่วยงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสหรัฐอเมริกา/สำนักงานความช่วยเหลือด้านภัยพิบัติต่างประเทศของสหรัฐฯ , องค์การบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา และ ศูนย์วิจัยอุทกวิทยา โดยจะทำงานร่วมกันเพื่อให้นำ FFGS ไปใช้ทั่วโลก

 

ระบบแจ้งเตือนภัยพิบัติ EU-Alert กลุ่มประเทศยุโรป

ระบบ EU-Alert หรือ European Public Warning Service เป็นระบบแจ้งเตือนภัยพิบัติผ่านโทรศัพท์มือถือ ซึ่งเป็นการแจ้งเตือนแบบไร้สายที่ได้มาตรฐานเทียบเท่าระบบของสหรัฐอเมริกา และใช้ระบบเตือนภัยนี้มาตั้งแต่ปี 2555 และใช้ได้กับมือถือทุกระบบ ทั้ง Android, iOS และ Windows เพื่อส่งข้อความเตือนเกี่ยวกับสาธารณภัยไปยังประชาชนในวงกว้าง โดยมีหลายประเทศในกลุ่มอียูใช้ระบบนี้ และมีชื่อเรียกแตกต่างกันไป ได้แก่

  • NL-Alert ระบบแจ้งเตือนภัยแห่งชาติของสหภาพยุโรปสำหรับเนเธอร์แลนด์
  • GR-Alert ระบบแจ้งเตือนภัยแห่งชาติของสหภาพยุโรปสำหรับกรีซ
  • LT-Alert ระบบแจ้งเตือนภัยแห่งชาติของสหภาพยุโรปสำหรับลิทัวเนีย
  • RO-Alert ระบบแจ้งเตือนภัยแห่งชาติของสหภาพยุโรปสำหรับโรมาเนีย
  • IT-Alert ระบบแจ้งเตือนภัยแห่งชาติของสหภาพยุโรปสำหรับอิตาลี

สำหรับ ข้อความแจ้งเตือนของ EU-Alert ในกรณีเกิดภัยพิบัติแบ่งเป็น 2 ประเภทหลักๆ ได้แก่

ภัยคุกคามที่รุนแรงมาก : จัดเป็นภัยคุกคามต่อชีวิตและทรัพย์สินของคุณ เช่น ภัยพิบัติทางสภาพอากาศที่กำลังจะเกิดขึ้น (เฮอริเคน สึนามิ ไต้ฝุ่น น้ำท่วม) คำเตือนโรคระบาด หรือการโจมตีของผู้ก่อการร้าย

ภัยคุกคามที่รุนแรง : ร้ายแรงน้อยกว่าข้างต้น สิ่งเหล่านี้อาจเป็นสถานการณ์ประเภทเดียวกัน แต่ในระดับที่เล็กกว่า โดยจะแจ้งเตือนให้ประชาชนระมัดระวัง อยู่อย่างปลอดภัย แต่ไม่จำเป็นต้องแพ็กกระเป๋ายังชีพ ไม่ต้องเตรียมการอพยพ

เทคโนโลยีแจ้งเตือนภัยผ่าน sms นี้ จะส่งข้อความเตือนสาธารณะให้แก่ประชากรที่มีอายุมากกว่า 12 ปี ราวๆ 70% – 85% ของประชากรทั้งหมด โดยจะได้รับข้อความเตือนภัยภายในไม่กี่วินาที หลังจากที่ทางการได้รับข้อมูลยืนยันว่าจะเกิดภัยพิบัติ

 

ระบบแจ้งเตือนภัยพิบัติ US WEA system สหรัฐอเมริกา

ระบบ US WEA system หรือ ระบบการแจ้งเตือนฉุกเฉินแบบไร้สาย เป็นระบบการแจ้งเตือนภัยพิบัติของสหรัฐอเมริกา โดยจะเป็นการแจ้งเตือนภัยพิบัติผ่านข้อความ (sms) ไปยังโทรศัพท์มือถือทุกเครื่องในพื้นที่เสี่ยงภัยพิบัติ ซึ่งสามารถแจ้งเตือนได้รวดเร็วกกว่าและมีประสิทธิภาพมากกว่าวิธีอื่นๆ

ระบบนี้ดำเนินงานโดย “หน่วยงานจัดการเหตุจุกเฉินกลาง (FEMA)” และ คณะกรรมการกลางกำกับดูแลกิจการสื่อสาร (FCc) โดยพื้นฐานแล้ว WEA เป็นระบบที่ส่งการแจ้งเตือนไปยังอุปกรณ์มือถือที่อยู่ในบางพื้นที่ที่เกิดภัยพิบัติ โดยข้อความการแจ้งเตือนนั้น จะระบุเนื้อหาทั้งประเภทของการแจ้งเตือน ระดับความรุนแรง ระยะเวลาของการแจ้งเตือน มาตรการที่จะดำเนินการ และหน่วยงานที่ออกคำเตือน (เช่น รัฐบาลกลาง รัฐ และ/หรือหน่วยงานท้องถิ่น)

รายละเอียดทั้งหมดนี้มีข้อความสูงสุด 90 ตัวอักษรบนเครือข่าย 3G หรือ 360 ตัวบนเครื่อข่าย 4G และ 5G การแจ้งเดือนนี้มาในรูปแบบของการแจ้งเตือนฟรี และประชาชนไม่ต้องลงทะเบียน

การแจ้งเตือนเหล่านี้ส่งโดยองค์กรที่มีอำนาจเดือนสาธารณะ (เช่น รัฐบาลกลาง รัฐ และ/หรือหน่วยงานท้องถิ่นด้านความปลอดภัยสาธารณะ ฯลฯ) โดยมีขั้นตอนอย่างเป็นระบบ ดังนี้

  • หน่วยงานหรือองค์กรเหล่านี้ส่งข้อความแจ้งเตือนประชาชนและระบุพื้นที่แจ้งเตือนไปยัง FEMA ผ่านระบบเตือนภัยและแจ้งเตือนสาธารณะแบบบูรณาการ (IPAWS)
  • FEMA รับรองความถูกต้องของหน่วยงานที่ส่งมา และเผยแพร่ประกาศ WEA ไปยังผู้ให้บริการเครือช่ายไร้สายมากกว่า 100 ราย ที่มีความร่วมมือกับภาครัฐ
  • ดำเนินการเพื่อส่งการแจ้งเตือนไปยังโทรศัพท์มือถือของประชาชนในพื้นที่ที่เกิดเหตุภัยพิบัติ
  • ประชาชนจะได้รับการแจ้งเตือนทางมือถือ สองครั้ง (แม้ว่ามือถือจะปิดเสียง)

———————————————

อ้างอิง : ปภ., nhk.or.jp, PPTV, dek-d, smartphonediary, thaipublica.org