20 กุมภาพันธ์ 2564
| โดย สาวิตรี รินวงษ์
811
จับตาผลกระทบโควิด-19 ทำคนไทยตกงาน รายได้ลด “ฮาคูโฮโด” ชี้พฤติกรรมการใช้จ่ายของคนไทยในเดือนกุมภาพันธ์ลดลง ซื้อเฉพาะสินค้าจำเป็น อาหาร ของใช้ในบ้าน และต้องตอบโจทย์ใช้งานครบวงจร
นางสาวชุติมา วิริยะมหากุล ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจ สถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า สถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) ได้ร่วมกับ บริษัท ฮาคูโฮโด แบงคอก ได้ศึกษาเกี่ยวกับแนวโน้มการบริโภคของคนไทยทุกๆ 2 เดือน เพื่อคาดการณ์พฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศไทย โดยเดือนกุมภาพันธ์ 2564 พบว่าทิศทางใช้จ่ายลดลงเกือบทุกภูมิภาคและเกือบทุกช่วงอายุของประชากรในสังคมไทย
ทั้งนี้ คนไทยมีแนวโน้มระมัดระวังการใช้จ่ายต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศจะคลี่คลายดีขึ้น ขณะเดียวกันการแพร่ระบาดของไวรัสรอบใหม่ ส่งผลให้ความต้องการใช้จ่ายและระดับความสุขลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญเมื่อเทียบกับผลการสำรวจในเดือนพฤศจิกายน 2563 เพราะสภาพเศรษฐกิจยังมีความเปราะบาง อยู่ในภาวะถดถอยต่อเนื่อง ส่วนกลุ่มที่ต้องการใช้จ่ายสูงขึ้น เพราะต้องการตุนสินค้าเพื่อเลี่ยงการออกไปนอกบ้าน ทำงานที่บ้านมากขึ้น ต่างจังหวัดมีการใช้บริการส่งอาหารมากขึ้น การซื้อของขวัญให้คนรัก เป็นต้น
“ผู้บริโภคที่ระมัดระวังการใช้จ่ายเนื่องจกาได่รับผลกระทบจากโควิด ทำให้รายได้ลดลง จึงต้องใช้จ่ายอย่างประหยัด การว่างงานยังส่งผลให้ไม่คิดจะซื้ออะไรเลย ส่วนคนที่มีความกังวลเรื่องการเงินของครอบครัว เพราะเป็นเสาหลักทำงานคนเดียวจึงต้องประหยัด เนื่องจากการดำรงชีวิตมีค่าใช้จ่ายอีกมากมายทั้งค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเรียนพิเศษบุตรหลาน ส่วนการที่ซื้อสินค้าเพราะซื้อเพื่อมาแทนของเก่า”
สำหรับสินค้าที่จะซื้อต้องตอบสนองจุดประสงค์การใช้งานได้หลากหลาย ไม่ใช่แค่อำนวยความสะดวกด้านเดียวอีกต่อไป เช่น การซื้อสมาร์ทโฟน นอกจากใช้ทำงาน ยังให้ลูกใช้เรียนออนไลน์ได้ด้วย
นางสาวมนัสริน ณ ระนอง รองผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนกลยุทธ์ บริษัท ฮาคูโฮโด แบงคอก กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกสองทำให้ผู้บริโภคระวังตัว ใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น และจะซื้อสินค้าตุนไว้มากขึ้น ส่วนสินค้าหรือบริการที่ผู้บริโภคต้องการซื้อสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.อาหาร เพิ่มขึ้น 8% 2.ของใช้จำเป็นในชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้น 4% เช่น ผงซักฟอก กระดาษชำระ ฯ 3.โทรศัพท์มือถือและสมาร์ทโฟน ลดลง 1% 4.เสื้อผ้าลดลง 2% และ5.คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล แท็บเล็ต ฯ เพิ่มขึ้น 1%
นอกจากนี้ แนวโน้มความต้องการในการใช้จ่ายลดลงเกือบทุกภูมิภาค โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก มีเพียงภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีแนวโน้มความต้องการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่าเกิดจากผู้บริโภคย้ายถิ่นฐานจากกรุงเทพฯ กลับภูมิลำเนาเพราะได้รับผลกระทบจากโรคโควิด
นางสาวพร้อมพร สุภัทรวณิช ผู้จัดการฝ่ายวางแผนกลยุทธ์ สถาบันความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) กล่าวว่า การระบาดของโรคโควิดระลอกสองยังส่งผลให้ผู้บริโภคกล่าวถึงข่าวโควิดเพิ่มเป็น 81% เทียบกับการสำรวจเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 อยู่ที่ 77% ตามด้วยข่าวการเมือง 3% จาก 57%
อย่างไรก็ตาม การสำรวจครั้งนี้ ทำผ่านออนไลน์ระหว่างวันที่ 8-15 มกราคม 2564 จากผู้ตอบแบบสอบถามเพศชายและหญิงจำนวน 1,200 คน อายุ 20-59 ปี ทั่วประเทศ