เปิดเอกสารลับ! มะกันสอบข้อกล่าวหาโตโยต้า ประเทศไทย จ่ายสินบนผู้พิพากษา เลี่ยงภาษีหมื่นล้าน
จากกรณีสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานเมื่อวันที่ 19 มีนาคม ว่าบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ป. เปิดเผยไว้ในเอกสารนำเสนอต่อคณะกรรมการกำกับและดูแลตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐ (เอสอีซี) ว่ามีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการละเมิดกฎหมายต่อต้านการติดสินบน โดยบริษัทโตโยต้า ประเทศไทย ต่อ เอสอีซี และกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐ (ดีโอเจ) โดยเวลานี้อยู่ระหว่างการสืบสวน
คลิกอ่าน โตโยต้า แจ้งตลาดมะกัน สาขาในไทยมีพฤติกรรมเข้าข่าย ‘ติดสินบน’
ขณะที่โตโยต้า ประเทศไทย ได้ออกมายืนยันว่าจะให้ความร่วมมือในการส่งเอกสารให้กับหน่วยงานรัฐของสหรัฐ และยืนยันว่าทำธรุกิจในประเทศไทยอย่างโปร่งใส
คลิกอ่าน โตโยต้า ประเทศไทย โต้ข่าวติดสินบน ยันทำธุรกิจโปร่งใส เคารพกฎหมายสูงสุด
ล่าสุดเมื่อวันที่ 29 มีนาคมที่ผ่านมา เว็บไซต์ Law360 เว็บไซต์รายงานข่าวและวิเคราะห์ด้านกฎหมายในสหรัฐอเมริกา ได้เปิดเผยข้อมูลการสอบสวนกรณีทุจริตที่เกิดขึ้นกับบริษัทโตโยต้า ประเทศไทย โดยอ้างเอกสารของโตโยต้าและแหล่งข่าวใกล้ชิดกับกรณีดังกล่าว ว่า ก่อนหน้าที่ โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ป. จะแจ้งข้อกังวลกับหน่วยงานของสหรัฐนั้น บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นได้มีการสืบสวนภายในเกี่ยวกับ ความเป็นไปได้ที่ ที่ปรึกษาของโตโยต้า ประเทศไทย มีการจ่ายเงินสินบนให้กับผู้พิพากษารวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐบาลไทย หลายคนเพื่อเลี่ยงภาษีนำเข้ายรถยนต์ โตโยต้า พรีอุส มูลค่า 350 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 10,900 ล้านบาท
รายงานระบุว่า บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ป. ได้เปิดเผยกับผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 18 มีนาคมว่า บริษัทได้แจ้งต่อคณะกรรมการกำกับและดูแลตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐ (เอสอีซี) และกระทรวงยุติธรรมสหรัฐ (ดีโอเจ) เกี่ยวกับการละเมิดกฎหมายต่อต้านการติดสินบน ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับบริษัทสาขาในประเทศไทย โดยโตโยต้า มอเตอร์ คอร์ป. ระบุว่ากำลังร่วมมือกับเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายของสหรัฐอเมริกา ในการสืบสวนและไม่ได้มีการเปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติม
Law360 ระบุว่าจากข้อมูลตามเอกสารได้ที่ได้รับมา และเอกสารทางคดี เผยว่า บริษัทโตโยต้า สหรัฐ ได้ดำเนินการสืบสวนเป็นการภายใน นำโดยที่ปรึกษากฎหมายจากบริษัท Wilmerhale โดยมี รหัสเรียกดังกล่าวว่า “Project Jack” โดยเป็นการสืบสวนว่าบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ละเมิดกฎหมายว่าด้วยการปราบปรามทุจริตของสหรัฐ หรือกฎหมายว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการติดสินบนของอังกฤษหรือไม่ จากการจ่ายเงินให้กับบริษัทกฎหมาย หรือที่ปรึกษาที่อาจส่งต่อหรือแบ่งปันสินบนให้กับผู้พิพากษาไทย ที่ปรึกษาศาล หรือบุคคลอื่นๆ ในความพยายามเพื่อให้ได้ผลประโยชน์จากกรณีภาษีรถยนต์พรีอุส
กระบวนการเกี่ยวกับการสืบสวนภายในนั้นบันทึกไว้ในเอกสารจำนวน 22 หน้าลงวันที่ 30 กันยายน 2562 โดยสำเนาเอกสารที่จัดทำขึ้นเป็นปกติในกรณีมีการสืบสวนภายในบริษัท นั้น Law360 ได้รับมาจากแหล่งข่าวที่ไม่เปิดเผยตัวตน และได้รับการตรวจสอบความน่าเชื่อถือแล้ว
เอกสารดังกล่าวมีหัวเรื่องว่า “TMC Thailand Inquiry: Background & Protocol for Document Review,” หรือ (การสอบสวนภายในบริษัท TMC Thailand : ข้อมูลเบื้องหลังและแนวปฏิบัติในการทบทวนเอกสาร) แนวปฏิบัติดังกล่าวถูกแจกจ่ายไปยังทีมสืบสวนจำนวนหนึ่งที่ตรวจสอบเอกสารบริษัทหลายล้านชิ้นที่ย้อนกลับไปถึงปี 2555 ด้วยความช่วยเหลือจากนักกฎหมายนับสิบคน และล่ามแปลภาษาจำนวนหนึ่ง โดยกระบวนการสืบสวนดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าบริษัทโตโยต้า สหรัฐนั้นเป็นห่วงเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่มีการจ่ายสินบนให้กับ ผู้พิพากษาศาลฏีกาหลายคน ทั้งที่เคยดำรงตำแหน่งในอดีต และผู้ที่ยังดำรงตำแหน่งในปัจจุบัน รวมถึงจ่ายสินบนให้กับเจ้าหน้าที่ในวงการการเงินและกระบวนการยุติธรรมของไทยอีกหลายคนด้วยกัน
“เอกสารเหล่านี้ระบุถึงการตั้งข้อสังเกตสำหรับการตรวจสอบและความเป็นไปได้ที่ผู้ซึ่งดำเนินการในนามบริษัทโตโยต้าได้พยายามที่จะจ่ายเงินให้กับเจ้าหน้าที่รัฐบาลคนใดก็ตาม ทั้งโดยตรงหรือโดยอ้อม เพื่อที่จะทำให้มีอิทธิพลต่อผลลัพธ์ของคดีรถพรีอุส” แนวทางการในเอกสารระบุ
จากข้อมูลคดีของ Wilmerhale ระบุว่า ในคดีภาษีรถยนต์พรีอุสนั้น เจ้าหน้าที่ศุลกากรไทยได้กล่าวหาบริษัทโตโยต้า ค้างจ่ายภาษีให้กับรัฐเป็นเงิน 11,000 ล้านบาท หรือราว 350 ล้านดอลลาร์สหรัฐในวันนี้ โดยภาษีดังกล่าวเป็นภาษีนำเข้าระยะเวลา 2 ปี เนื่องจากบริษัทโตโยต้า ไม่ได้ใช้สายการผลิตในประเทศไทยในการผลิตรถยนต์พรีอุส แต่นำเข้ารถยนต์พรีอุสที่ประกอบเรียบร้อยแล้วเข้ามาแทน หากโตโยต้า แพ้คดีนั่นจะทำหให้ภาษีน้ำเข้ารถยนต์พรีเอสพุ่งสูงขึ้นจาก 10% เป็น 80% ของมูลค่ารถยนต์เลยทีเดียว
การสืบสวนภายในของโตโยต้า เน้นไปที่การสืบสวนว่า พนักงานของโตโยต้าได้จ่ายเงินให้กับบริษัทกฎหมายไทย 8 แห่ง หรือมีการจ่ายเงินให้อีก 12 คนที่อาจมีบทบาทสำคัญในการเก็บภาษีรถยนต์พรีอุส ขณะที่บริษัทกำลังต่อสู้คดีภาษีในศาลไทย หรือไม่
นอกจากนี้เพื่อให้เข้าใจว่ามีการจ่ายเงินขึ้นหรือไม่และอย่างไร จึงพยายามสืบสวนเพื่อยืนยันจำนวนเงินและตรวจสอบว่ามีการแอบจ่ายเงินทั้งทางตรงและทางอ้อมไปยังบุคคลอื่น หรือ “ใช้หรือจงใจใช้เงินเพื่อเหตุผลที่ไม่เหมาะสม และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อชักจูงผลในเชิงคดีรถยนต์พรีอุส”
อีกประเด็นการตรวจสอบก็คือว่า ผู้ที่ได้รับเงินดังกล่าวนั้นมีอิทธิพลเชื่อมโยง หรือ ติดต่อกับ กลุ่มบุคคลที่อยู่ในตำแหน่งผู้พิพากษาศาลฎีกาหรืออดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาที่จะส่งผลต่อรูปคดีรถยนต์พรีอุสหรือไม่ โดยทาง Wilmerhale ยังได้ขอให้ทีมสอบสวน พุ่งเป้าหาหลักฐานว่าบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ คอร์ป บริษัทแม่ในระดับโลกนั้นรับรู้ถึงการจ่ายเงินอันไม่ถูกต้องแก่บริษัทที่ปรึกษาด้วยหรือไม่
ทั้งนี้เอกสารที่ Law360 ได้รับมาระบุว่ากรณีดังกล่าวเป็นการสืบส่วนในขั้นต้นเท่านั้นและสามารถเปลี่ยนแปลงได้หากมีการพบข้อมูลใหม่เพิ่มขึ้น
ด้านตัวแทนของบริษัทโตโยต้าระบุเมื่อวันที่ 29 มีนาคมที่ผ่านมาว่า บริษัทให้ความร่วมมือกับการสืบสวนของทางการสหรัฐอย่างเต็มที่
“โตโยต้าทำงานอย่างหนักเพื่อที่จะคงไว้ซึ่งความเป็นมืออาชีพและมาตรฐานะจริยธรรมระดับสูงในทุกๆประเทศที่เราดำเนินการ เราจะดำเนินการจัดการกับข้อกล่าวหาในการกระทำผิดอย่างจริงจังและมีพันธกรณีในการทำให้แน่ใจว่าการทำธุรกิจของเราจะสอดคล้องกับข้อบังคับของรัฐบาลทุกแห่ง” อีริค บูธ โฆษกโตโยต้า ระบุ
Law360 ระบุว่าบริษัทกฎหมาย Wilmerhale ยังไม่ตอบรับในการให้ความเห็นเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวเมื่อวันที่ 29 มีนาคม ขณะที่โฆษกกระทรวงยุติธรรมสหรัฐ และเอสอีซี ปฏิเสธที่จะให้ความเห็น
ที่มา https://www.law360.com/internationaltrade/articles/1369325