เลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่กำลังจะจัดขึ้นในวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 นี้ ไม่ได้เป็นแค่เพียงความคึกคักในด้านการเมือง ภายหลังว่างเว้นการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ไปนานกว่า 9 ปีเท่านั้น แต่ในอีกด้านหนึ่งคือความคึกคัก (จนถึงเกะกะ) ตามพื้นที่ฟุตบาท ซึ่งต่อจากนี้จะเต็มไปด้วยไวนิลกรอบไม้ที่ติดตามต้นไม้และเสาไฟฟ้าต่าง ๆ เพื่อส่งสัญญาณเรียกหาคะแนนเสียงให้กับบรรดาผู้สมัครทั้งสังกัดพรรคและอิสระ
เลือกตั้งผู้ว่าฯ กับ ป้ายหาเสียง คือของคู่กัน เพราะแม้จะมีสื่อออนไลน์ แต่การมีป้ายประชาสัมพันธ์เพื่อสื่อสารนโยบายยังอยู่คู่กับการเลือกตั้งในทุกระดับมาทุกยุคทุกสมัย และป้ายโฆษณาหาเสียงก็ทำหน้าที่ไม่ต่างจากป้ายโฆษณาขายบ้าน ขายคอนโด ที่เราเห็นกันบ่อยๆ ในยุคนี้ นั่นเพราะป้ายเหล่านั้นต้องการสื่อสารกับผู้สัญจรผ่านไปผ่านมา ให้รายละเอียดในระดับพื้นที่ นอกเหนือจากสื่อสารแบรนด์ในภาพใหญ่ที่มีสื่ออื่นช่วยกันทำหน้าที่อยู่แล้ว
ยกตัวอย่างการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ถ้าเป็นการติดตั้งในเขตพื้นที่ ป้ายหาเสียงก็มักจะเป็นรูปผู้สมัครคู่กับว่าที่ ส.ก. (สมาชิกสภากรุงเทพฯ) สื่อสารถึงการเป็นพรรคพวกเดียวกัน ทำงานเป็นทีมในพื้นที่นั้นๆ
หรือถ้าเป็นเรื่องนโยบายเด่น เช่น นโยบายที่เกี่ยวข้องกับการระบายน้ำ สาธารณสุข ก็มักจะปรากฎถ้อยคำในป้ายหาเสียงที่อยู่ในพื้นที่ซึ่งมีปัญหาน้ำท่วมขังอยู่บ่อยๆ มากกว่าในเขตใจกลางเมืองซึ่งปัญหาดังกล่าวไม่ได้เชื่อมโยงกับบริบทพื้นที่
การค้นคว้าอิสระเรื่อง “การใช้วัจนกรรมและกลวิธีทางภาษาบนป้ายโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2554” สาขาวิชาภาษาและการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร อธิบายตอนหนึ่งที่ช่วยนิยามการเป็น “ป้ายหาเสียง” ว่า ป้ายหาเสียงเลือกตั้งเป็นช่องทางหนึ่งที่ใช้เพื่อสื่อประชาสัมพันธ์ ซึ่งมีจุดประสงค์หลักเดียวกันคือการต้องการให้ประชาชนผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนออกเสียงให้แก่ตนเอง และเนื่องด้วยป้ายโฆษณามีพื้นที่จำกัดและมีช่วงระยะเวลาในการโฆษณาสั้น ดังนั้นผู้สมัครจึงต้องพิถีพิถันเลือกสรรข้อความบนป้ายโฆษณา หาเสียงเลือกตั้งที่มีถ้อยคำพลังดึงดูด ความสนใจและเป็นจุดขายของผู้สมัครให้มากที่สุด
เราจึงเห็นถ้อยคำประเภท “4ปีซ่อม 4 ปีสร้าง” สำหรับผู้สมัครในพรรคที่เคยได้รับตำแหน่งไปแล้วเมื่อ 4 ปีที่ผ่านมา
“เลือกความสงบ จบลงที่…“ ซึ่งแสดงถึงความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงที่ผ่าน
“หยุดวิกฤติเศรษฐกิจ หยุดสร้างหนี้“ ซึ่งสะท้อนถึงปัญหาเศรษฐกิจก่อนหน้า เป็นต้น
เหตุนี้ป้ายหาเสียงในแต่ละยุคแต่ละสมัยเลือกตั้งจึงไม่ต่างจากสมุดบันทึกทางการเมืองของช่วงเวลา ที่ประดับประดาริมถนนให้ผู้คนหวนนึกถึงสิ่งที่ผ่านมาก่อนจะทำการใช้สิทธิ์
ป้ายหาเสียงการเลือกตั้งซ่อมที่เพิ่งผ่านมา และคำว่า “สานงานต่อ” สื่อสารถึงเจ้าของพื้นที่เดิมที่เป็นผู้สมัครจากพรรคเดียวกัน
ผลสำรวจการวิจัยเรื่องเดียวกัน ยังพบว่าวัจนกรรม (เจตนาของผู้ส่งสาร) ที่พบมากในป้ายหาเสียงใน 3 ลำดับแรก ได้แก่ วัจนกรรมการสัญญา ที่ผู้สมัครเสนอจะทำสิ่งต่างๆ ให้ดีขึ้น, วัจนกรรมการร้องขอ การขอร้องขอโอกาสให้เข้ามารับใช้ประชาชน และวัจนกรรมการจูงใจ เช่นการ สื่อถึงประโยชน์ที่จะได้รับ
ป้ายหาเสียงของ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ตัวแทนจากพรรคประชาธิปัตย์ที่ใช้สีและสัญลักษณ์ของพรรคอย่างชัดเจน
สำรวจราคาป้ายหาเสียง
ปี 2565 ที่กำลังจะมีผู้ว่าฯ กรุงเทพ คนใหม่ การทำป้ายหาเสียง ก็ไม่ต่างจากการรับผลิตงานพิมพ์อื่นๆ ที่ผู้รับงานส่วนใหญ่เป็นบริษัทรับผลิตป้ายต่างๆ เช่น ป้ายอิงค์เจ็ท ป้ายโครงการ หรือสติ๊กเกอร์ ทั้งรายเล็กและรายใหญ่
ผู้ประกอบการรายหนึ่ง ให้ข้อมูลกับ “กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” ว่า กรณีการทำป้ายหาเสียงผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ นี้ ทีมงานส่วน ส.ก. ในแต่ละพื้นที่จะมีบทบาทมาก กล่าวคือเป็นผู้จัดการ ทั้งการจัดพิมพ์ การติดตั้ง เพราะกลุ่มคนเหล่านี้จะรู้ว่าพื้นที่ไหนติดตั้งแล้วจะมีคนมองเห็นมากที่สุด ไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้สัญจร
“ก่อนจะได้เบอร์ เขาก็เล็งไว้แล้วว่าจะติดตรงไหน บางคนเอาป้ายขึ้นไปก่อน พอได้เบอร์ก็ไปเปลี่ยน คนที่ทำส่วนใหญ่เป็นคนพื้นที่ จะอัพเดทกับทางพรรคก็คือถ้อยคำที่ทีมงานส่วนกลางอยากจะใช้ หรือเป็นอาร์ตเวิร์คสุดท้ายที่พร้อมจะพิมพ์”
ขณะที่ “เก๋” ทีมงานฝ่ายขายบริษัท HERO PRINT เขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ ซึ่งรับผลิตป้ายหาเสียงในกรุงเทพฯ บอกว่า จนถึงวันนี้ทีมงานผู้สมัครของแต่ละพรรคได้จองคิวมาสักระยะแล้ว และส่วนใหญ่คิวการผลิตจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน เป็นต้นไป เนื่องจากทราบว่ากำลังรอเบอร์อย่างเป็นทางการ ส่วนป้ายหาเสียงที่วางก่อนหน้านี้ก็ถูกผลิตมาตั้งแต่ช่วง 1-2 สัปดาห์ ก่อนการทยอยเปิดตัวผู้สมัครอย่างเป็นทางการ
“เท่าที่ทราบ ก็มีทุกพรรค หลายผู้สมัคร ส่วนใหญ่ทีมงานก็จะมาขอใบเสนอราคา มาจองคิวไว้ก่อน เพื่อไปขอเทียบราคา จัดสรรงบ ก่อนอนุมัติให้ผลิตจริง ซึ่งกำลังการผลิตของป้ายหาเสียงในรูปแบบที่ได้รับความนิยมคือ ไวนิล + โครงไม้ พร้อมขาค้ำยัน ก็จะอยู่ที่ 100 ชิ้นต่อวัน และสำหรับร้านที่รับทำก็พร้อมจะเตรียมแรงงานไว้สำหรับการจัดทำป้ายในช่วงเลือกตั้งอยู่แล้ว”
สำหรับราคาป้ายหาเสียง ส่วนใหญ่จะผลิตที่ขนาดความกว้างไม่เกิน 130 เซนติเมตร และมีขนาดความยาวไม่เกิน 245 เซนติเมตร โดยราคาตลาดจะเริ่มต้นอยู่ที่ชิ้นละ 320-360 บาท
ภาพจากเว็บไซต์ Hero Print
ได้แก่ ป้ายหาเสียง ป้ายเลือกตั้ง (ไวนิล + โครงไม้ พร้อมขาค้ำยัน) สั่งผลิตจำนวน 30 – 99 ชิ้น อยู่ที่ 360 บาท, 100 – 499 ชิ้นอยู่ที่ 350 บาท, 500 – 999 ชิ้น อยู่ที่ 340 บาท, 1,000 – 9,999 ชิ้น อยู่ที่ 330 บาท, 10,000 ป้ายขึ้นไป อยู่ที่ 320 บาท และจะถูกลงเรื่อยๆ เมื่อสั่งผลิตเป็นจำนวนมากขึ้น ขณะที่การผลิตในรูปแบบอื่นๆ จะมีราคาถูกลง เช่น ถ้าเป็นป้ายหาเสียง ป้ายเลือกตั้ง (ไวนิล + โครงไม้ ไม่รวมขาค้ำยัน) จะอยู่ที่ชิ้นละประมาณ 320- 350 บาท
ภาพจากเว็ปไซต์ Hero Print
ระเบียบเลือกตั้งว่าด้วย “ป้ายหาเสียง”
ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้มีประกาศกำหนดจำนวน หลักเกณฑ์ และสถานที่ปิดประกาศและติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ลงวันที่ 28 มีนาคม 2565 โดยระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกต้้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2563 เพื่อให้การติดป้ายหาเสียงเป็นไปตามระเบียบที่กำหนด อาทิ
1. ให้ผู้สมัครเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ปิดประกาศและติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ณ สถานที่ที่หน่วยงานกำหนด จำนวน ดังนี้
- ประกาศเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้ง จัดทำได้ไม่เกิน 10 เท่าของจำนวนหน่วยเลือกตั้งในเขตเลือกตั้ง
- แผ่นป้ายหาเสียงเลือกตั้งไม่เกิน 5 เท่าของจำนวนหน่วยเลือกตั้งในเขตเลือกตั้ง
2. กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการปิดประกาศเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้ง และติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้ง ใน การเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ดังนี้
- จัดทำและปิดประกาศเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้ง มีขนาดความกว้างไม่เกิน 30 เซนติเมตร และมีขนาดความยาวไม่เกิน 42 เซนติเมตร
- จัดทำและติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้ง มีขนาดความกว้างไม่เกิน 130 เซนติเมตร และมีขนาดความยาวไม่เกิน 245 เซนติเมตร
ส่วนสถานที่ห้ามปิดประกาศ ได้แก่ บริเวณป้ายปิดประกาศของสำนักงานเขต โรงเรียนสังกัด กทม. และหน่วยงานในสังกัด กทม. ผิวการจราจร เกาะกลางถนน และอย่าให้ติดหัวมุมซอยให้ห่างจากปากซอย 10 เมตร สะพานลอยเดินข้ามและสะพานลอยรถข้าม รวมทั้งส่วนประกอบของสะพาน รั้วและแผงเหล็กริมถนน ป้ายจราจรและสัญญาณไฟจราจร ป้ายประกาศของทางราชการ รั้วหรือกำแพงหรือผนังอาคารของทางราชการ ต้นไม้และเสาไฟฟ้าบริเวณเกาะกลางถนน และบริเวณโดยรอบพระบรมมหาราชวัง เป็นต้น โดยขอให้ผู้สมัครศึกษารายละเอียด และปฏิบัติตามข้อกำหนดของประกาศอย่างเคร่งครัด ส่วนผู้อำนวยการเขตสามารถแจ้งเตือน หากไม่ปฏิบัติตามสามารถเก็บป้ายดังกล่าวได้ทัน
ป้ายหาเสียงของ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ตัวแทนจากพรรคเพื่อไทยเมื่อการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ปี 2556
ป้ายหาเสียง สมุดบันทึกริมทางเดินเท้า
ป้ายหลายรูปทรงที่วางเรียงรายอยู่ริมถนน หากจะมองเป็นความรำคาญก็ไม่ผิด แต่อีกด้านหนึ่งก็เปรียบเสมือนศิลปะที่บันทึกเหตุการณ์ในช่วงหนึ่งไว้ และในอดีตประเทศไทยก็มีป้ายหาเสียงแปลกๆ ที่แฝงความสร้างสรรค์และอารมณ์ขันมากมาย
อาทิ การประกาศตัวสมัครลงเลือกตั้งของพรรคการเมืองที่มีจุดขายด้านการทำงานชุมชน เป็นการรวมตัวของชาวบ้าน นักพัฒนาองค์กรเอกชน ก็จะใช้ถ้อยคำ หรือวัสดุหาเสียงที่สื่อสารถึงความเป็นชาวบ้าน ชุมชน ผู้สมัครที่สังกัดพรรคก็จะใช้โทนสีและถ้อยคำที่สื่อสารกับนโยบายพรรคโดยตรง
ป้ายหาเสียงพรรคสามัญชนในการเลือกตั้งปี 2562
นอกจากนี้ในอดีตก็เคยมีป้ายรณรงค์ที่เป็นการเสียดสีป้ายหาเสียงเพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมืองแบบใดแบบหนึ่งด้วย
ป้ายรณรงค์โหวต No ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2554
ถึงเช่นนั้น แม้ว่าป้ายหาเสียงจะทำหน้าที่อย่างไร แต่ผู้มีอำนาจตัดสินความเป็นไปของกรุงเทพฯ ได้ดีที่สุดคือประชาชนชาวกรุงเทพฯผู้มีสิทธิ์ ซึ่งจะแสดงพลังอีกครั้งในวันเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพ วันที่ 22 พฤษภาคม นี้