แรงงานขอวันละ 492 บาท มีอีก “11ข้อเสนอ” “สุชาติ” สวนทันที นายจ้างก็ยังเจ็บ

ไทยรัฐฉบับพิมพ์

2 พ.ค. 2565 04:44 น.

กลุ่มองค์กรแรงงานไทยยังแยกกันจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ ปี 2565 โดยสภาองค์การลูกจ้างแห่งชาตินำขบวนต้อนรับ นายกฯ ที่กระทรวงแรงงาน พร้อมยื่น 8 ข้อเรียกร้อง ขณะที่ “คสรท.-สรส.” บุกทำเนียบฯยื่น 11 ข้อ รวมถึงขอปรับค่าจ้าง 492 บาททั่วประเทศ ด้าน “รมว.แรงงาน” สวนทันที เป็นการคิดแบบตรรกะที่ไม่เข้าใจ อ้าง 2 ปีที่ผ่านมา นายจ้างก็เจ็บ ส่วนข้อเรียกร้องอื่นระบุดำเนินการไปแล้วหลายข้อ

เมื่อวันที่ 1 พ.ค. ซึ่งรัฐบาลกำหนดให้เป็นวันแรงงานแห่งชาติ เมื่อเวลา 08.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวคำปราศรัยเนื่องในโอกาส “วันแรงงานแห่งชาติ ประจำปีพุทธศักราช 2565” เพื่อเป็นขวัญกำลังใจกับผู้ใช้แรงงานทุกคน ผ่านสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยมีเนื้อหาสรุปว่า เนื่องในโอกาสวันแรงงานแห่งชาติ วันที่ 1 พ.ค.2565 ขอส่งความรักความ ปรารถนาดีมายังพี่น้องแรงงานไทยทุกคน และขอบคุณทุกคนที่เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยให้มีความเจริญก้าวหน้ารัฐบาลเห็นความสำคัญของการเสริมสร้างศักยภาพแรงงานไทยในทุกมิติให้มีความพร้อมต่อการทำงานในศตวรรษที่ 21 จากความผัน แปรทางเศรษฐกิจ สังคม สาธารณสุข และสิ่งแวดล้อม โดยรัฐบาลได้สนับสนุนการยกระดับทักษะและความสามารถด้านเทคโนโลยีให้แก่แรงงานไทยสอดคล้องต่อความต้องการของตลาดแรงงานระดับสากล พร้อมพัฒนาคุณภาพแรงงานไทยสู่การเป็นแรงงานฝีมือระดับสูง ขณะเดียวกันภายใต้สถานการณ์โควิดรัฐบาลยังได้ขับเคลื่อนมาตรการช่วยเหลือและเยียวยาให้แก่ผู้ใช้แรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาด ทั้งแรงงานในระบบ แรงงานนอกระบบ และแรงงานกลุ่มเปราะบาง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องแรงงาน ผ่านมาตรการและโครงการต่างๆ ด้วย ในช่วงท้าย นายกฯได้เน้นย้ำให้แรงงานทุกคนดูแลรักษาสุขภาพ ป้องกันตนเองให้ห่างไกลจากโรคระบาด

อีกด้านหนึ่งที่ท้องสนามหลวง ช่วงเช้าหลังจบพิธีสงฆ์ ริ้วขบวนของผู้ใช้แรงงานนำโดยขบวนเทิดพระเกียรติฯ เคลื่อนออกจากสนามหลวงมายังกระทรวงแรงงาน เพื่อรอรับนายกรัฐมนตรีและยื่นข้อเรียกร้องวันแรงงานแห่งชาติ จากนั้นเวลา 11.00 น. ที่กระทรวงแรงงาน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกฯ และ รมว.กลาโหม เป็นประธานในพิธีเปิดงานวันแรงงานแห่งชาติปี 2565 โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวง นายสุชาติ ไทยล้วน ประธานสภาองค์การลูกจ้างแห่งชาติในฐานะประธานจัดงานพร้อมผู้นำแรงงานและผู้ใช้แรงงานร่วมงาน

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวสุนทรพจน์เนื่องในวันแรงงาน มีสาระสำคัญว่า รัฐบาลไม่เคยทอดทิ้งและเอาใจใส่แรงงานทุกคนอยู่เสมอ ในฐานะที่เป็นกำลังสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยรัฐบาลให้ความสำคัญการพัฒนาแรงงาน เพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้น มีชีวิตที่ดีและความสุขอย่างยั่งยืน เป็นเป้าหมายสำคัญที่จะต้องดำเนินการไปพร้อมกันกับการพัฒนาประเทศ พร้อมยืนยันรัฐบาลไม่เคยทิ้งและเร่งพัฒนาฝีมือแรงงาน การเพิ่มศักยภาพแรงงาน เพราะวันหน้าโลกอาจจะเปลี่ยนไปในเรื่องของการใช้เครื่องจักรเครื่องมือ เป็นใช้หุ่นยนต์มากขึ้น ฉะนั้นเราต้องพัฒนาตัวเองเพื่อสามารถทำงานกับเครื่องจักรได้ในอนาคต และสามารถเป็นหัวหน้างานคุมงานได้

ต่อมานายสุชาติ ไทยล้วน ประธานสภาองค์การลูกจ้างแห่งชาติยื่นข้อเรียกร้อง 8 ข้อ คือ 1.ให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคม และการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว และฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง 2.ให้เร่งส่งร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ…. ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ที่ผ่านประชาพิจารณ์แล้ว เข้าสู่กระบวนการพิจารณาในรัฐสภาฯ โดยเร่งด่วน 3.ให้ขยายวงเงินเพื่อลดหย่อนภาษีเงินได้ที่ลูกจ้างได้รับก้อนสุดท้ายตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ข้อ 4.ปรับปรุง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ข้อ 5.ให้รัฐบาลปฏิรูป แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันสังคม อาทิขยายอายุผู้ประกันตนเป็น 15-70 ปี 6.เร่งรัดออกกฎหมายคุ้มครอง ส่งเสริมพัฒนาคุณภาพแรงงานนอกระบบ และมีสิทธิจัดตั้งองค์กรได้ 7.ให้จัดระบบกองทุนสวัสดิการเพื่อการเลี้ยงชีพให้กับลูกจ้างภาครัฐวิสาหกิจ และ 8.แต่งตั้งคณะทำงานติดตามข้อเรียกร้องวันแรงงานแห่งชาติ ซึ่งหลังรับข้อเรียกร้อง พล.อ.ประยุทธ์ ได้ทักทายผู้ใช้แรงงานและเยี่ยมชมบูธของกลุ่มแรงงานสตรีและหน่วยงานของกระทรวงแรงงาน จากนั้นให้สัมภาษณ์ถึงข้อเสนอจากองค์การลูกจ้างฯ 8 ข้อ จะรับไว้เพื่อนำไปดำเนินการให้เป็นรูปธรรม ยืนยันว่ารัฐบาลมุ่งยกระดับป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ขณะที่แรงงานต่างด้าวต้องดูแลให้เป็นระบบเพราะต้องใช้ทั้งแรงงานไทยและต่างด้าวพัฒนาระบบทั้งประเทศ

ส่วนการขอขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนั้น พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า กำลังหารือกันอยู่ว่าถ้าจะขึ้นจะขึ้นได้เท่าไหร่ ต้องดูเรื่องอัตราเงินเฟ้อด้วย และถ้าจะไม่ขึ้นเป็นเพราะอะไรสิ่งสำคัญวันนี้คือการย้ายฐานการผลิตไปที่อื่น เพราะนักลงทุนจะดูว่าไปประเทศไหน อาจมองว่าที่อื่นลงทุนได้ง่ายกว่า สะดวกกว่าหรือไม่ถูกกว่าหรือไม่ เขาก็ไปหมด ข้อเสนอเรื่องนี้เป็นของคนที่เดินอยู่ข้างนอก แต่เราต้องเอามาดู มีอะไรก็มาคุย

ขณะที่นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เปิดเผยว่า ข้อเรียกร้องหลายข้อของกลุ่มแรงงานได้ดำเนินการไปแล้ว ในเรื่องสิทธิรวมตัวและเจรจาต่อรอง กระทรวงแรงงานได้ปรับปรุง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ และ พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา และจะส่งกลับมาที่กระทรวงแรงงานยืนยันกลับไปอีกครั้งเพื่อนำเข้า ครม. ส่วนการตั้ง รพ.ประกันสังคมอยู่ระหว่างการผลักดัน โดยจะพยายามดำเนินการให้ได้ในปีนี้เช่นกัน ส่วนการปรับค่าจ้างขั้นต่ำมีปลัดกระทรวงเป็นประธานการพิจารณา จะดูทั้งภาวะเงินเฟ้อ ค่าครองชีพ และอัตราค่าแรงในปัจจุบัน ซึ่งแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน กรณีที่มีการเสนอให้ปรับ 492 บาทเท่ากันทั้งประเทศ เป็นการคิดแบบตรรกะที่ตนก็ไม่เข้าใจ 2 ปีที่ผ่านมา นายจ้างเจ็บจนไม่รู้ว่าจะเอาเงินที่ไหนมาประคองถ้าจะขึ้นค่าจ้างถึง 48 เปอร์เซ็นต์ มันไม่ไหวต้องให้ทั้งนายจ้างและลูกจ้างอยู่ได้

ด้านนายอนุชิต แก้วต้น จากสภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวในการเสวนาเรื่องเศรษฐกิจยุคโควิดมีผลกระทบกับแรงงานและค่าจ้างอย่างไร ว่า ตนอยากเรียกร้องกระทรวงแรงงานโดยเฉพาะสำนักงานประกันสังคม ขอให้ผู้ประกันตนที่อายุครบ 55 ปี สามารถเลือกได้ว่าเกษียณแล้วจะรับเงินชราภาพเป็นเงินบำเหน็จหรือบำนาญ ไม่ต้องคิดแทนว่าหากเอาไปเป็นก้อนจะใช้หมดภายในไม่นาน และฝากถึงนายกรัฐมนตรีว่า ตอนนี้ข้าวของแพงแต่ค่าแรงถูก ค่าจ้างไม่ได้ปรับมาแล้ว 2 ปี จึงถึงเวลาขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำให้แรงงานทั้งประเทศแล้ว

ส่วนที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน กลาง กลุ่มคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) นำโดยนายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และนายมานพ เกื้อรัตน์ เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ จัดกิจกรรมวันกรรมกรสากล โดยเคลื่อนขบวนไปที่ประตู 5 ทำเนียบรัฐบาล ตั้งเวทีปราศรัย พร้อมยื่น 11 ข้อเรียกร้องถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อาทิ ให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 492 บาทเท่ากันทั้งประเทศ ให้รัฐบาลสนับสนุน ส่งเสริม และผลักดันให้ทำโครงสร้างค่าจ้าง หยุดแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ปฏิรูประบบประกันสังคมให้เป็นองค์กรอิสระ รวมทั้งจัดตั้งธนาคารแรงงาน โรงพยาบาลประกันสังคม

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ที่จุดนี้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล นำทีม ส.ส.พรรคก้าวไกล ด้านแรงงาน อาทิ นายสุเทพ อู่อ้น ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล เข้าร่วมเดินขบวนไปพร้อมกับกลุ่มสหภาพแรงงานที่มารวมตัวกันหน้าทำเนียบรัฐบาล นายพิธากล่าวตอนหนึ่งว่า ถึงเวลาที่พวกเราต้องสู้เรื่องรัฐสวัสดิการ จะไปสู่จุดนั้นได้ต้องเริ่มจากการลดงบฯที่ไม่จำเป็นลง เพื่อนำมาสร้างรัฐสวัสดิการให้ประเทศไทย อาทิ มีเบี้ยบำนาญเพื่อคนหลังวัยเกษียณถ้วนหน้า 3,000 บาท เสนอให้จ้างงานและระบบพัฒนาคนทำงานเพื่อไปดูเเลผู้สูงอายุ ด้วยงบฯ ก้อนนี้ จะทำให้คนอีกจำนวนมากต้องยอมออกจากงานไปดูแลพ่อแม่หรือผู้สูงอายุที่บ้านได้รับศักยภาพกลับคืนมา แล้วออกไปทำงานได้อีกครั้ง ที่สำคัญต้องส่งเสริมให้การจัดตั้งสหภาพแรงงานเป็นเรื่องถูกต้องตามกฎหมายและทำได้สะดวก นอกจากนี้ สิทธิการทำงานด้วยคุณภาพชีวิตที่ดีและสิทธิการรวมตัวกัน เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนต้องได้รับตามรัฐธรรมนูญ พรรคยื่นร่างพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ เพื่อสนับสนุนสิทธิดังกล่าวเทียบเท่ากับมาตรฐานสากลเข้าสู่สภาฯเรียบร้อยแล้ว อยู่ในขั้นตอนการรับฟังความเห็นจากประชาชนตามมาตรา 77 อยากขอเชิญชวนให้ทุกคนเข้าไปแสดงความเห็นให้มากๆ ส่งเสียงถึงส.ส.ในสภาฯ ให้ช่วยกันผลักดันร่างกฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้แรงงานทุกคนและสัญญาว่าทุกปีจะมาเจอในการเดินขบวนแบบนี้แน่นอน

อ่านเพิ่มเติม…