รัฐบาลได้มีการโรดโชว์เพื่อการลงทุนเป็นครั้งแรกนับจากมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยมี สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นหัวหน้าคณะ ซึ่งได้เดินทางโรดโชว์ชักจูงการลงทุนที่ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 20-23 เม.ย.2565 การเดินทางครั้งนี้พาคณะประกอบด้วย ม.ล.ชโยทิต กฤดากร ผู้แทนการค้าไทย , ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)
สุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า การพบนักลงทุนรายสำคัญในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย คือ ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และการแพทย์ โดยทุกบริษัทยืนยันให้ความเชื่อมั่นในศักยภาพของไทย พร้อมพิจารณาไทยเป็นฐานธุรกิจหลักของภูมิภาคและวางแผนขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งการจัดตั้งสำนักงานภูมิภาคในประเทศไทย
นอกจากนี้ ทุกรายยังให้ความสำคัญกับการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ซึ่งเป็นเป้าหมายที่สอดคล้องกับนโยบายของไทย และมีโอกาสสร้างความร่วมมือกันได้อีกมากด้วย
สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ได้เน้นย้ำว่ารัฐบาลมีนโยบายชัดเจนที่จะส่งเสริมให้ไทยเป็นฐานการผลิตEV ระดับโลก โดยได้หารือกับผู้ประกอบการทุกรายและได้ออกมาตรการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งระบบนิเวศของยานยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจร เช่น แบตเตอรี่ ชิ้นส่วน และสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า
“ทุกบริษัทยินดีให้ความร่วมมือกับมาตรการดังกล่าว โดยส่วนใหญ่มีแผนการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลไทย และคาดว่าจะทยอยเข้าร่วมมาตรการสนับสนุน EV ได้ภายใน 1-2 ปีข้างหน้า”
สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ได้เน้นย้ำว่ารัฐบาลมีนโยบายชัดเจนที่จะส่งเสริมให้ไทยเป็นฐานการผลิตEV ระดับโลก โดยได้หารือกับผู้ประกอบการทุกรายและได้ออกมาตรการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งระบบนิเวศของยานยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจร เช่น แบตเตอรี่ ชิ้นส่วน และสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า
“ทุกบริษัทยินดีให้ความร่วมมือกับมาตรการดังกล่าว โดยส่วนใหญ่มีแผนการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลไทย และคาดว่าจะทยอยเข้าร่วมมาตรการสนับสนุน EV ได้ภายใน 1-2 ปีข้างหน้า”
นอกจากนี้ ได้หารือเกี่ยวกับโอกาสในการสร้างความร่วมมือเพื่อส่งเสริมให้เกิดการผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าในไทย ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ รวมถึงการส่งเสริมธุรกิจรีไซเคิลแบตเตอรี่ด้วย
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล กล่าวว่า การโรดโชว์ครั้งนี้ได้หารือกับบริษัทรถยนต์ที่ได้รับส่งเสริมการลงทุน 4 บริษัทโดยมีการชี้แจงมาตรการส่งเสริมตลาด EV ที่ให้สิทธิลดภาษีสรรสามิตและภาษีนำเข้า รวมทั้งการอุดหนุนเงินให้ผู้ซื้อรถผ่านค่ายรถ และเป็นมาตรการที่ครอบคลุมระยะเวลา 4 ปี (2565-2568) ซึ่งบริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นสนใจมาตรการดังกล่าวและจะทยอยเข้าร่วม โดยมีแผนที่จะลงทุนยานยนต์ไฟฟ้าในไทยอยู่แล้ว
ทั้งนี้ บริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นชี้แจงว่ามาตรการส่งเสริม EV ของรัฐบาลสอดรับกับนโยบายการลงทุนของบริษัทรถ แต่ความพร้อมของแต่ละบริษัทไม่เท่ากัน ซึ่งมีการประเมินความพร้อมจาก 3 ปัจจัย คือ 1.ตลาดรถ EV ในไทย 2.โครงสร้างพื้นฐานสถานีอัดประจุไฟฟ้า 3.แผนธุรกิจของแต่ละบริษัท เช่น การพัฒนาโมเดลรถ
นอกจากนี้ ที่ผ่านมาบริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นต่างทยอยประกาศแผนธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า โดยโตโยต้าประกาศทำตลาดรถEV รวม 30 รุ่น ภายใน 10 ปี และตั้งเป้าหมายมียอดขาย 3.5 ล้านคัน ภายในปี ค.ศ.2030
รวมทั้งที่ผ่านมาบีโอไอได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนยานยนต์ไฟฟ้าทั้งรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) รถยนต์ไฟฟ้าแบบผสม (HEV) และรถยนต์ไฮบริดแบบเสียบปลั๊ก (PHEV) ให้กับบริษัทรถญี่ปุ่นประกอบด้วย
1.บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนเมื่อวันที่ 7 ม.ค.2563 โครงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าประเภท BEV และประเภท PHEV ถือเป็นโครงการใหญ่ของโตโยต้าในประเทศไทย โดยตามแผนจะเห็นรถออกสู่ตลาดปลายปี 2566
2.บริษัท นิสสันมอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนเมื่อวันที่ 28 ก.ค.2561 ให้ขยายกิจการผลิตรถประเภท HEV และแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า เงินลงทุน 10,960 ล้านบาท ตั้งโรงงานอยู่ที่ อ.บางเสาธงจ.สมุทรปราการ
3.บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนเมื่อวันที่ 28 ก.ค.2561 ยายกิจการผลิตรถประเภท HEV และแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ลงทุน 5,821 ล้านบาท ตั้งโรงงานอยู่ที่ บริษัทสวนอุตสาหกรรมโรจนะ จ.พระนครศรีอยุธยา และ จ.ปราจีนบุรี
4.บริษัท ออโต้อัลลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนเมื่อวันที่ 4 พ.ย.2563 ผลิตรถประเภท PHEV และ BEV ลงทุน 3,247 ล้านบาทตั้งที่นิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด ระยอง จ.ระยอง ผลิตรถPHEV ปีละ 5,000 คัน และรถ BEV ปีละ 1,000 คัน ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ
สุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า กลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ บริษัทญี่ปุ่นมองไทยเป็นฐานการผลิตอิเล็กทรอนิกส์กลางน้ำและปลายน้ำที่แข็งแกร่ง และมีศักยภาพต่อยอดสู่การผลิตอิเล็กทรอนิกส์ต้นน้ำในกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ได้ รวมทั้งการผลิตอิเล็กทรอนิกส์สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ที่มีแนวโน้มความต้องการสูงขึ้นเร็ว โดยไทยต้องให้ความสำคัญกับการเตรียมพร้อมบุคลากรมากขึ้น
สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์ บริษัทได้แสดงความเชื่อมั่นในศักยภาพของบุคลากรด้านการแพทย์ของไทย โดยจะพิจารณาขยายธุรกิจในอุตสาหกรรมยาและการวิจัยทางคลินิกร่วมกับมหาวิทยาลัยและโรงพยาบาลต่าง ๆ ต่อไปนอกจากนี้ ยังได้หารือถึงเรื่องการใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ในการดูแลผู้สูงอายุให้มีอายุยืน มีสุขภาพแข็งแรง และสามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อประเทศไทยที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุด้วย
“ผลการเยือนเพื่อชักจูงการลงทุนประเทศญี่ปุ่นครั้งนี้เป็นที่น่าพอใจ และมีการหารือร่วมกันในหลายประเด็นกับญี่ปุ่นในฐานะหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ของไทย ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตของอุตสาหกรรมสมัยใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง รวมถึงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ตามโมเดล BCG ที่จะช่วยสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนระหว่าง 2 ประเทศ” สุพัฒนพงษ์ กล่าว