เลิกอั้นใช้จ่าย! สงกรานต์นี้ คนไทยพร้อมเปย์ ส่องไอเทมต้องมี เสื้อผ้า กินข้าวนอกบ้าน รองเท้า กระเป๋า มือถือฯ

2 เมษายน 2564
| โดย สาวิตรี รินวงษ์

2

‘ฮาคูโฮโด’ ชี้สงกรานต์ 64 คนไทยพร้อมเปย์ เสื้อผ้า กินข้าวนอกบ้าน รองเท้า กระเป๋า มือถือฯ หนุนดัชนีความสุขเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แม้มีโควิดระบาด เผยความสนใจข่าวโควิดลดฮวบ จดจ่อมาตรการรัฐแทน ทั้งโครงการเราชนะ เรารักกัน ฯ เพราะเกี่ยวข้องเงินในกระเป๋าโดยตรง

การจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคก็มีฤดูกาลหรือซีซันนอล เพราะในแต่ละช่วงเวลามี เงินเข้าออกกระเป๋าแตกต่างกันไป เช่น สิ้นเดือน ปีใหม่ สงกรานต์ ไตรมาส 4 เป็นต้น ทว่า ช่วงโควิด-19 ระบาดมาราธอนข้ามปี มีจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสเป็นระลอกๆ ย่อมทำให้ประชาชนผวา ความเชื่อมั่นลดลง ยิ่งถ้าได้รับผลกระทบตกงานว่างงาน ทำให้ขาดรายรับประจำ กระเทือนการใช้จ่าย จนการค้าขายซบเซา 

แต่ สงกรานต์ปี 2564 ผู้ประกอบการเตรียมเฮ! เพราะผู้บริโภคพร้อมใจเปย์ ซื้อสินค้าและบริการ หลังอัดอั้นมานาน

สถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) ร่วมกับ บริษัทในเครือ            ฮาคูโฮโด ได้ศึกษาแนวโน้มการบริโภคของคนไทยทุกๆ 2 เดือน โดยครั้งล่าสุดเป็นการสำรวจทางออนไลน์ระหว่างวันที่ 17-26 กุมภาพันธ์ 2564 จากกลุ่มตัวอย่าางทั้งชายและหญิงจำนวน 1,200 คน อายุ 20-59 ปี จาก 6 ภูมิภาคทั่วประเทศ พบข้อบ่งชี้เกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศไทยที่สำคัญ โดยเฉพาะการคาดการณ์พฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศไทยประจำเดือนเมษายน 2564 ผลออกมาคือ คนไทยกล้าใช้จ่ายมากขึ้นแม้โรคโควิด-19 จะยังคงอยู่ 

นางสาวชุติมา วิริยะมหากุล ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจ สถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า แม้สถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จะยังอยู่ในชีวิตคนไทยต่อไป แต่พลังของเทศกาลสงกราานต์ ซึ่งเป็นวันหยุดยาวหน้าร้อนทำให้คนไทยเริ่มปลดล็อคการใช้จ่ายในหลายด้านมากขึ้น ทั้งการเตรียมตัวออกไปท่องเที่ยว การสังสรรค์นอกบ้าน และการกลับมาพบกันของครอบครัวและคนใกล้ชิด ทำให้ระดับความสุขของผู้บริโภคไทยกลับมาสูงขึ้นอีกครั้ง

การใช้จ่ายของคนไทยเริ่มฟื้นตัวรับสงกรานต์-หยุดยาว

ทั้งนี้ พฤติกรรมผู้บริโภคคนไทยที่ผ่อนคลาย กล้าใช้จ่ายมากขึ้นแม้โควิดจะยังอยู่ เห็นได้ชัดจากความต้องการใช้จ่ายไปกับการทานอาหารนอกบ้าน การซื้อเสื้อผ้าใหม่ ควบคู่กับการอยู่บ้านมากขึ้นยังทำให้เกิดวิถีใหม่หรือ New Normal ด้วยการสร้างสุขได้เองที่บ้านนอกจากนี้ ยังมีความต้องการซื้อสินค้าเครื่องใช้เพื่อความสะดวกสบายในบ้านมากขึ้น 

ทว่า เมื่อพร้อมเปย์เงินซื้อความสุขหมวดหนึ่ง ของอีกหมวดก็ตต้องลดลงบ้าง โดยผลการสำรวจพบว่าของใช้จำเป็นในชีวิตประจำวันเริ่มน้อยลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับการสำรวจครั้งก่อน แต่ยังติดอันดับต้นๆ โดยเจาะลึกสินค้าและบริการที่ผู้บริโภคอยากซื้อมากที่สุดในเดือนเมษายน 5 อันดับแรก ได้แก่ อาหาร ของใช้จำเป็นในชีวิตประจำวัน โทรศัพท์มือถือและสมาร์ทโฟน เครื่องใช้ภายในบ้าน และเสื้อผ้า โดยมีความต้องการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวภายในประเทศเพิ่มขึ้นด้วย เพราะช่วงโควิดนักเดินทางจำนวนมากอั้นการเที่ยวนั่นเอง 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเทศกาลสงกรานต์และวันหยุดยาวคืออานิสงส์สำคัญที่ปลุกการจับจ่ายใช้สอย ห้วงเวลาแห่งความสุขดังกล่าว กลายเป็นตัวขับเคลื่อนการใช้จ่ายเพื่อเตรียมตัวสำหรับการพักผ่อน การรวมญาติ 

ส่วนฟากของแบรนด์สินค้าและบริการ ผู้ประกอบการเองก็ต้องระดมจัดกิจกรรมทางการตลาดเพื่อกระตุ้นยอดขายรับนาทีทองการใช้จ่าย จึงมีปล่อยมหกรรมลดราคาต่างๆ มาจูงใจกลุ่มเป้าหมาย 

สำหรับแนวโน้มความต้องการใช้จ่ายในเดือนเมษายน 2564 อยู่ที่ 56 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน เพิ่มขึ้นจาก 54 คะแนน เทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2564 และความต้องการใช้จ่ายยังคงเป็นซื้อเสื้อผ้า ทานอาหารนอกบ้าน เครื่องใช้ภายในบ้าน รองเท้ากระเป๋า โทรศัพท์มือถือและสมาร์ทโฟน เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด 

เลิกอั้นใช้จ่าย! สงกรานต์นี้ คนไทยพร้อมเปย์ ส่องไอเทมต้องมี เสื้อผ้า กินข้าวนอกบ้าน รองเท้า กระเป๋า มือถือฯ

ของมันต้องช้อป-ใช้จ่ายเมษายนนี้ กินข้าวนอกบ้าน กระเป๋า มือถือ ท่องเที่ยว

เมื่อจำแนกตามภาคแนวโน้มความต้องการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในภาคตะวันออก ภาคกลาง      และภาคเหนือ ขณะที่จังหวัดชลบุรีและระยองมีความต้องการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอย่างมาก ส่วนสินค้ายังเป็นกลุ่มอาหาร ของใช้ในชีวิตประจำวัน และเสื้อผ้า ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลจากการซื้อทดแทนของที่หมดไปในช่วงล็อคดาวน์ และยังเป็นการเตรียมตัวเพื่อประกอบอาชีพหรือทำมาหากินรับฤดูกาลท่องเที่ยวที่จะมาถึงอีกครั้งด้วย 

ขณะที่กรุงเทพและปริมณฑล ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ กลับมีแนวโน้มความต้องการใช้จ่ายลดลง หากพิจารณาจากสถานการณ์พื้นที่เหล่านี้ เพราะภาคใต้พึ่งพาธุรกิจท่องเที่ยว และมีผลกระทบจากโควิด ส่วนภาคอิสานผ่านพ้นฤดูกาลเกษตร เป็นต้น อย่างไรก็ตาม แนวโน้มความต้องการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นอยู่ในกลุ่มอายุ 30 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นผู้หารายได้หลักของครอบครัว 

สถานการณ์ดังกล่าวยังเป็นสัญญาณความสุขส่งผลต่อระดับความคาดหวังถึงความสุขในอนาคตที่เพิ่มขึ้นด้วย โดยระดับความสุขในปัจจุบันอยู่ที่ 65 คะแนน เพิ่มขึ้นจาก 64 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 

“การคาดการณ์ระดับความสุขใน 3 เดือนข้างหน้า ผู้บริโภคคาดว่าจะมีความสุข 51% เท่ากับปัจจุบัน แต่เพิ่มขึ้น 2% เทียบกับการสำรวจครั้งก่อน”

161735852177

ชุติมา วิริยะมหากุล

อีกพฤติกรรมผู้บริโภคที่น่าสนใจ คือการเกาะติดข่าวสาร แม้โควิดจะเป็นประเด็นฮอตที่คนพูดถึงกันมากสุด แต่ความสนใจลดฮวบเหลือ 24% จากการสำรวจครั้งก่อนอยู่ที่ 81% โดยผู้บริโภคเบนความสนใจไปให้น้ำหนักกับ มาตรการช่วยเหลือจากรัฐบาลมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโครงการเราชนะ เรารักกัน รวมถึงอัพเดทเรื่อง วัคซีนโควิด 

นอกจากนี้ ยังต้องการเห็นความชัดเจนเรื่องความเป็นธรรมในสังคมและความโปร่งใสของภาครัฐ จากการติดตามข่าวการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ม็อบเมียนมาร์ ลุงพลกับคดีน้องชมพู่ หรือข่าวเมียหลวงบุกงานแต่ง สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยอยากเห็นความถูกต้องและโปร่งใส ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สื่อน้องใหม่อย่างแอปพลิเคชัน Clubhouse กลายเป็นสื่อยอดนิยมในช่วงนี้ เพราะเป็นพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระเสรีและตรงไปตรงมา ยังไม่หมด เพราะผู้บริโภคยังสนใจข่าวเกี่ยวกับการหาช่องทางสร้างรายได้จากการลงทุน เช่น บิตคอยน์ หุ้นโออาร์ และทองคำด้วย