ตัวพ่อเล่นเอง! “ดร.นิว” จับโป๊ะ “ปวิน” ปั่นข่าวปลอม แซะ “สถาบัน” เรื่องโควิด แฉ “ชาญวิทย์” งับผัง “ล่าแม่มด” ผู้พิพากษา “หมอวรงค์” อุ้ม “ดร.อานนท์” ติงอธิการฯนิด้า ทำความเข้าใจ ระหว่าง คำว่า “แตกแยก-ปกป้อง”
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (2 พ.ค. 64) เฟซบุ๊ก Suphanat Aphinyan ของ ดร.ศุภณัฐ อภิญญาณ หรือ “ดร.นิว” นักวิจัยภายใต้สถาบันวิจัย MAST Center และ คณะวิศวกรรมชีวการแพทย์ University of Arkansas ประเทศสหรัฐอเมริกา โพสต์ข้อความ ระบุว่า
“#ต้องเป็นคนแบบไหนถึงได้หลงเชื่อลุงสุรชัย
สำนักพระราชวังมีการประกาศงดการพระราชพิธีในเดือนพฤษภาคมทั้งหมดแล้ว ตั้งแต่วันที่ -27 เมษายน 2564-
แต่ -1 พฤษภาคม 2564- “ลุงสุรชัย” หรือ “นายปวิน” กลับนั่งเทียนโพสต์ข้อความว่า “จัดงานเฉลิมพระเกียรติฉัตรมงคลทั่วประเทศ เออ แล้วไม่ต้องบ่นนะว่า โควิดระบาดได้ยังไง คนโง่! #ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์”
ในขณะที่ #สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่เคียงข้างประชาชน ทรงพระราชทานเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์จำนวนมากมาโดยตลอด เพื่อใช้ในการรักษาผู้ป่วยโควิดทั่วประเทศ
แม้ในยามที่โควิดระบาดอย่างหนัก ลุงสุรชัยยังคงบิดเบือนให้ร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างต่อเนื่อง แถมยังนำประเด็นโควิดมากุเรื่องสร้างความเกลียดชัง ผ่านการมโนขึ้นมาเองแบบมั่วๆ
ลุงสุรชัยเคยทำอะไรบ้าง นอกจากกบดานอยู่ในต่างประเทศ คอยยุยงปลุกปั่นผ่านโซเชียลมีเดีย หลอกคนไปทำผิดติดคุกติดตะราง บิดเบือนข้อเท็จจริง สร้างความแตกแยก แบ่งฝ่ายประชาชนให้ทะเลาะกันเองไปวันๆ?
#ปฏิรูปจิตสำนึกของลุงสุรชัย
#ปฏิรูปรอยหยักในสมองของสาวกลุงสุรชัย
นอกจากนี้ ดร.ศุภณัฐ อภิญญาณ หรือ “ดร.นิว” ยังโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า
“ต้นแบบของการล่าแม่มด?
ศ.ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วัย 80 ปี ร่วมล่าแม่มด บิดเบือนข้อเท็จจริง ให้ร้ายผู้พิพากษา ละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลอย่างร้ายแรง
#นี่หรือคือเฒ่าชาญวิทย์ วัย 80 ปี
ทั้งนี้ ดร.ชาญวิทย์ ได้แชร์โพสต์ของ แฟนเพจเฟซบุ๊ก We, The People ที่โพสต์ภาพกราฟิก ระบุว่า เป็นแผนผังชีวิตของผู้พิพากษาผู้ตัดสินให้อากงติดคุกจนเสียชีวิต และปฏิเสธสิทธิในการประกันตัวของเพนกวิน ซึ่งประกอบไปด้วย ภาพผู้พิพากษาและบุคคลในครอบครัวด้วย (จากไทยโพสต์)
ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน เฟซบุ๊ก Warong Dechgitvigrom ของ “หมอวรงค์” นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม โพสต์ข้อความ ระบุว่า
“ท่านอธิการบดีนิด้า
ตามที่ท่านอธิการบดีของนิด้า ตั้งคณะกรรมการแสวงหาข้อเท็จจริง กรณีมีการร้องเรียนว่า ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ บุคลากรของสถาบัน แสดงความคิดเห็นทางการเมือง และอาจนำไปสู่ความแตกแยกของกลุ่มคนในสังคมนั้น
ผมอยากให้ท่านอธิการบดี ได้ทำความเข้าใจกับ ภาษาไทย ระหว่างคำว่า ความแตกแยก กับ การปกป้อง
1. ความแตกแยก หมายถึงการนำไปสู่ ไม่เห็นด้วยอย่างแรง, ไม่ลงรอยกัน, ทะเลาะ, ขัดแย้ง, คัดค้าน ดังนั้น การสร้างความแตกแยก จึงมีผู้เริ่มต้นกระทำให้เกิดความแตกแยก
2. การปกป้อง หมายถึง คุ้มกัน, คุ้มครอง, ป้องกัน, รักษา ผู้ที่มาปกป้อง จึงเป็นผู้คุ้มกัน คุ้มครอง ป้องกันรักษา แน่นอน ผลของการปกป้อง ย่อมไม่อาจจะเลี่ยงความขัดแย้งได้
สิ่งที่ท่านอธิการบดีของนิด้า ต้องตระหนัก ต่อคำแถลงของสถาบัน นั่นคือ
ท่านทราบไหมครับว่า ดร.อานนท์ ได้ทำหน้าที่ของปวงชนชาวไทยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 50(1) นั่นคือ พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ถามท่านว่า ท่านไม่ทราบจริงๆ หรือครับว่า ขณะนี้มีขบวนการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ ดำเนินกิจกรรมในนามระบอบสามกีบ ร่วมกับอาจารย์บางส่วนของหลายๆ มหาวิทยาลัย ด้วยวิธีการปล่อยเฟกนิวส์ ให้ข้อมูลเท็จ ปั่นหัวเยาวชนของชาติ
ท่านทราบหรือไม่ว่า ดร.อานนท์ คือ บุคคลที่มีส่วนสำคัญมาก ที่ใช้องค์ความรู้ที่ได้ศึกษา และมีส่วนร่วมกับประชาชนหลายภาคส่วน ช่วยกันปกป้องสถาบันหลักของชาติ
แน่นอนครับ ผลของการทำหน้าที่ของปวงชนชาวไทย ของ ดร.อานนท์ ในการปกป้องสถาบัน ย่อมมีความขัดแย้ง แต่ดร.อานนท์ ไม่ใช่ผู้เริ่มต้นกระทำ และย่อมมีบุคคลที่ไม่พอใจ จึงฉวยโอกาสร้องเรียนท่าน เพราะการออกมาปกป้องสถาบันของดร.อานนท์ จะทำให้ขบวนการสามกีบ ยากลำบากที่จะบรรลุเป้าหมาย
ผมหวังว่า ท่านอธิการบดีน่าจะเข้าใจ ข้อเท็จจริงและบริบทของความจริงที่เกิดขึ้นครับ”
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 64 เฟซบุ๊ก NIDA Thailand สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ออกเอกสารประชาสัมพันธ์เรื่อง กรณีการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองของบุคลากรสถาบัน ระบุว่า
ตามที่มีข่าวเผยแพร่ทั่วไป เรื่องประชาชนเข้าชื่อเรียกร้องให้สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า สอบจริยธรรม ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ จากกรณีการแสดงออกทางความคิดเห็นผ่านทางสื่อโซเชียลมีเดีย ที่กำลังเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้างอยู่ในขณะนี้ นั้น
ศาสตราจารย์ ดร.กำพล ปัญญาโกเมศ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ พร้อมด้วย คณะผู้บริหารสถาบัน ได้รับทราบข้อมูล รวมถึงข้อกังวล ความห่วงใย ตลอดจนความคิดเห็นต่างๆ ที่ได้สะท้อนกลับมายังสถาบัน ซึ่งทางคณะผู้บริหารมิได้นิ่งนอนใจต่อเหตุการณ์ดังกล่าวแต่อย่างใด โดยขณะนี้ได้มีการสั่งการให้มีการดำเนินการตั้งคณะกรรมการแสวงหาข้อเท็จจริง เพื่อพิจารณาดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบ ข้อบังคับ และจรรยาบรรณของบุคลากรสถาบันต่อไป
อธิการบดี และสถาบัน ขอเน้นย้ำจุดยืนที่จะยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยสนับสนุนการให้เสรีภาพทางวิชาการ ในการแสดงความคิดเห็นภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญและกฎหมายของประเทศไทย และส่งเสริมความคิดเห็นที่สร้างความปรองดองสมานฉันท์ โดยจะไม่ส่งเสริมหรือสนับสนุนความคิดเห็นใดๆ ที่จะนำไปสู่ความแตกแยกของกลุ่มคนในสังคมและประเทศชาติ
แน่นอน, ทั้งหมด เป็นเรื่องที่คนไทยจะต้องยอมรับร่วมกันว่า มีขบวนการไม่เอาเจ้า หรือปฏิรูปสถาบัน มีม็อบ “3 นิ้ว” ของกลุ่มเยาวชนเครือข่ายคณะราษฎรที่เคลื่อนไหวจาบจ้างล่วงละเมิดสถาบัน โดยมีนักการเมืองบางจำพวก บางพรรค บางคณะ นักวิชาการ นักเคลื่อนไหว องค์กรสิทธิมนุษยชนของต่างประเทศหนุนหลัง รวมทั้งบรรดาตัวพ่อทั้งหลายที่ลี้ภัยอยู่ต่างประเทศ
ขณะเดียวกัน ก็มีผู้จงรักภักดี ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ เรื่องนี้ทุกคนยอมรับ แม้แต่ฝ่ายไม่เอาเจ้า และคอยปกป้องสถาบัน ทั้งในรูปแบบส่วนตัว ผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย และเป็นกลุ่มบุคคล ที่สำคัญ ในส่วนนี้ก็มีทุกสาขาอาชีพ และทุกช่วงวัยเช่นกัน จนไม่อาจกล่าวอ้างได้ว่า คนรุ่นใหม่ เห็นด้วยกับม็อบ 3 นิ้วทั้งหมด
เมื่อเป็นเช่นนี้ สังคมไทยจึงกำลังเผชิญกับความขัดแย้งแตกแยก อย่างไม่มีทางหลีกพ้น ด้วยผลของความเห็นต่างดังกล่าว และแน่นอน การกล่าวอ้างว่า บางฝ่ายต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย จึงยังมีคำถาม หรือมีวาระซ่อนเร้น พอๆ กับ มี “อีแอบ” อยู่เบื้องหลัง
ดังนั้น กรณีโพสต์ของ “ปวิน” กรณีการนำมาแฉของ “ดร.นิว” การออกมาแสดงความคิดเห็นและเสนอแนะ ปกป้อง ดร.อานนท์ ของ “หมอวรงค์” คือ ภาพสะท้อนเป็นอย่างดี
สุดท้าย ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์โรคระบาดเลวร้ายแค่ไหน แต่โจทย์ข้อใหญ่เรื่องนี้ ก็คือ สิ่งที่คนไทยจะต้องช่วยกันหาคำตอบเพื่อแก้ไขให้จบให้ได้ หาไม่ ประเทศไทย คนไทย ก็ยากที่จะอยู่ดีมีสุข สงบเย็นเหมือนนานาอารยประเทศ
ให้มันจบที่คนไทยเป็นคนพิพากษา เรื่องที่เกิดขึ้นทั้งหมด มิใช่ใครเพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง!?