แบรด เอ็ดแมน รองประธานกรรมการประจำประเทศไทย กัมพูชา และเมียนมา แมริออท อินเตอร์เนชั่นแนล ฉายภาพว่า ในพื้นที่ 3 ประเทศที่เขารับผิดชอบ ปัจจุบันแมริออทฯ ให้บริการอยู่ 17 แบรนด์ จากทั้งหมดที่มีกว่า 30 แบรนด์ โดยมีโรงแรมและที่พักรวม 67 แห่ง และมีแผนจะเปิดตัวอีก 41 แห่งในพื้นที่นี้
“โรงแรมส่วนใหญ่ของเราอยู่ในประเทศไทย มีจำนวนถึง 64 แห่ง (รวมที่พักอาศัย 2 แห่ง) จากทั้งหมด 67 แห่งใน 3 ประเทศ ทำให้ผลประกอบการในประเทศไทยมีสัดส่วนสูงสุดในผลประกอบการรวมของพื้นที่นี้ โดยกว่าครึ่งหนึ่งหรือ 32 แห่งเป็นโรงแรมและที่พักตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ ส่วนที่เหลืออีก 32 แห่งตั้งอยู่ในเมืองท่องเที่ยวสำคัญอื่นๆ เช่น เชียงราย เชียงใหม่ ระยอง หัวหิน ปรานบุรี พัทยา ภูเก็ต เขาหลัก กระบี่ และสมุย”
ลูกค้าของแมริออทฯ ประมาณ 60% จึงถูกขับเคลื่อนด้วยกลุ่มนักท่องเที่ยวและนักเดินทาง ส่วนอีก 20% เป็นลูกค้ากลุ่มองค์กร และ 20% เป็นกลุ่มหมู่คณะและกลุ่มไมซ์ (MICE: การประชุม เดินทางเพื่อเป็นรางวัล สัมมนา และแสดงสินค้า
โดยผลการดำเนินงานของพื้นที่ 3 ประเทศนี้ในปี 2567 ทุกกลุ่มลูกค้ามีการเติบโตของ “รายได้ต่อห้องพัก” (RevPAR) อย่างแข็งแกร่ง เพิ่มขึ้น 15% เทียบกับปีก่อน และเมื่อดูเฉพาะไตรมาส 4 ปีที่แล้ว พบว่านักท่องเที่ยวที่เข้าพักช่วงสั้นๆ เป็นเซ็กเมนต์ที่เติบโตเร็วที่สุด ตัวเลข RevPAR เพิ่มขึ้น 15% ส่วนนักเดินทางเป็นกลุ่มมี RevPAR เพิ่มขึ้น 33% ซึ่งเป็นผลจากการเติบโตที่แข็งแกร่งของตลาดสหรัฐ จีน และตลาดใกล้เคียงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
“ประเทศไทยถือเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่มากของแมริออทฯ ในฐานะจุดหมายปลายทางยอดนิยม ดึงดูดนักท่องเที่ยวมาสัมผัสสถานที่มากมาย ด้วยเสน่ห์ด้านชอปปิง อาหาร วัฒนธรรม และความรู้สึกผ่อนคลาย ทั้งยังได้ปัจจัยบวกจากการเติบโตของตลาดอินเดีย ควบคู่กับการเดินกลยุทธ์มองหาตลาดอื่นๆ มาชดเชยการชะลอตัวของตลาดจีนและญี่ปุ่นในภาพรวมของภาคท่องเที่ยวไทยที่ยังไม่เข้าเป้า เช่น การดึงตลาดระยะไกล จากประเทศที่พูดภาษาเยอรมัน ฝรั่งเศส และสเปน ร่วมกับตลาดตะวันออกกลาง”
แบรด เอ็ดแมน
สำหรับ “แผนขยายโรงแรม” ในพื้นที่ประเทศไทย กัมพูชา และเมียนมาเมื่อปี 2567 แมริออทฯ ได้เปิดโรงแรมใหม่ 11 แห่งใน 3 ประเทศดังกล่าว เทียบกับ 6 แห่งในปี 2566 ไฮไลต์คือการเปิดแบรนด์ “ม็อกซี่” (Moxy) เป็นครั้งแรกในไทย ภายใต้แนวคิด “Bold and Experiential Stays” และแบรนด์ “เดอะ ริทซ์-คาร์ลตัน” (The Ritz-Carlton) แห่งแรกในกรุงเทพฯ ส่วนในประเทศกัมพูชา เปิดแล้ว 3 แห่ง เป็นแบรนด์ระดับซีเลกต์ (Select) ได้แก่ แฟร์ฟิลด์ บาย แมริออท (Fairfield by Marriott) และ คอร์ทยาร์ด บาย แมริออท (Courtyard by Marriott)
“ในปี 2567 แมริออทฯ มีการลงนามข้อตกลงเปิดโรงแรมใหม่ในพื้นที่ 3 ประเทศ โดยมีโรงแรมที่อยู่ในแผนพัฒนา 44 แห่ง คิดเป็นจำนวนห้องพักรวม 11,000 ห้อง”
นอกจากนี้ แมริออทฯ มีแผนเปิดโรงแรมใหม่เพิ่มอีก “5 แห่ง” ในปี 2568 ได้แก่
1.พัทยา แมริออท รีสอร์ท แอนด์ สปา ซึ่งเป็นโรงแรมแบรนด์ แมริออท โฮเทลส์ แอนด์ รีสอร์ท แห่งแรกในพัทยา
2.ทริบิวต์ พอร์ตโฟลิโอ เมโทรโพล กรุงเทพฯ เป็นโรงแรมแบรนด์ ทริบิวต์ (Tribute) แห่งแรกในไทย
3.โฟร์พอยท์ส บาย เชอราตัน กระบี่ อ่าวนาง บีช รีสอร์ท
4.แฟร์ฟิลด์ บาย แมริออท กระบี่ อ่าวนาง บีช รีสอร์ท เป็นโรงแรมแบรนด์ แฟร์ฟิลด์ บาย แมริออท แห่งแรกในไทย
5.คอร์ทยาร์ด บาย แมริออท ฉลองเบย์
“โรงแรมเปิดใหม่ 5 แห่งในปีนี้ ทั้งหมดเป็นการเปิดตัวในประเทศไทยเพียงประเทศเดียว โดยจะเปิดตัว 2 แบรนด์ใหม่ในไทย ได้แก่ Fairfield by Marriott และ Tribute Collection อยู่ในกลุ่มแบรนด์ระดับ Select ที่ได้อานิสงส์จากการเติบโตของตลาดนักเดินทางรุ่นใหม่ เช่น เจน Z ซึ่งมองหาโรงแรมราคาเข้าถึงได้”
สอดรับกับทิศทางของแมริออทฯ ที่กำลังมองหาโอกาสขยายธุรกิจเซ็กเมนต์ระดับกลาง (Mid-scale) ในไทยช่วง 2 ปีนี้ หลังจากก่อนหน้านี้ได้รุกขยายโรงแรมกลุ่มระดับลักชัวรี (Luxury) ซึ่งถือเป็นเซ็กเมนต์ที่เติบโตมากที่สุดในไทย ขณะที่กลุ่มระดับพรีเมียม (Premium) ครองส่วนแบ่งตลาดมากที่สุดในไทยตอนนี้
แบรด เล่าเพิ่มเติมว่า สำหรับแผนขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจโรงแรมในพื้นที่ 3 ประเทศนี้ แมริออทฯ จะเน้นที่ประเทศไทยเป็นพิเศษ! ด้วยการผลักดันกลยุทธ์ “ไฮเปอร์โลคัล” (Hyperlocal) ขยายฐานตลาดการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ ควบคู่กับสร้างการเติบโตของโปรแกรมสมาชิกภายในประเทศ
ตัวอย่างความร่วมมือสำคัญๆ เช่น การเป็นพันธมิตรในงาน แบงค็อก มิวสิก ซิตี้ (Bangkok Music City), ไลฟ์เนชั่น (LiveNation) และไนลอน (Nylon) เพื่อให้สมาชิก “แมริออท บอนวอย” (Marriott Bonvoy) ที่มีฐานสมาชิกทั่วโลกกว่า 200 ล้านคน ได้รับสิทธิประโยชน์จากการสะสมพอยต์เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมและประสบการณ์ต่างๆ สัมผัสโมเมนต์พิเศษฉบับ “Marriott Bonvoy Moments”