“DOW” ประกาศรางวัลทีมชนะเลิศเวที DOW-CST AWARD หนุนเด็กไทยรักวิทยาศาสตร์

วันนี้ (1 เม.ย.2565) กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow) บริษัทชั้นนำระดับโลกด้านแมททีเรียลไซแอนซ์ (Materials Science) ได้ประกาศผลตัดสินและมอบรางวัล โครงงานวิทยาศาสตร์ด้วยเทคนิค ปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วน (DOW-CST AWARD) ประจำปี 2565 ภายใต้โครงการห้องเรียนเคมีดาว ซึ่งมี 6 ทีมได้รับรางวัลจากผู้ที่เข้ารอบชิงชนะเลิศทั้งหมด 11 ทีม จาก 27 ทีม ที่ผ่านเข้ารอบสอง

โครงการ DOW-CST AWARD ประจำปี 2563-2564  ภายใต้โครงการห้องเรียนเคมีดาวได้จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 9 ภายใต้ความร่วมมือ Dow ร่วมกับ สมาคมเคมีแห่งประเทศไทยในพระอุปถัมภ์ของศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี

  • DOW-CST AWARD ปีที่ 9 เสริมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์

องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) และคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เปิดให้ครูและนักเรียนทั่วประเทศร่วมประชันไอเดียการปฎิบัติการเคมีแบบย่อส่วน ชิงทุนการศึกษาและโล่เกียรติยศ รวมมูลค่ากว่า 200,000 บาท ซึ่งปีนี้ได้จัดการแข่งขัน ณ ศูนย์การค้า เดอะ สตรีท (รัชดา) ภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 อย่างเคร่งครัด

นายสุพจน์ เกตุโตประการ ผู้อำนวยฝ่ายธุรกิจ กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย กล่าวว่า  ปีนี้ได้กำหนดธีมการประกวดภายใต้หัวข้อ “โครงการการทดลองวิทยาศาสตร์แบบย่อส่วนที่ปลอดภัยและยั่งยืน” (Small-Scale Chemistry Laboratory) เป็นระบบการทดลองที่ใช้สารเคมีน้อยกว่าการทดลองแบบปกติถึง 2,000 เท่า มีความปลอดภัยสูงและสามารถลดของเสียที่เกิดจากการทดลอง โดยเปิดโอกาสให้นักเรียนและครูที่ปรึกษานำเสนอไอเดียที่น่าสนใจ

 

  • ทดลองเคมีแบบย่อส่วน แรงบันดาลใจสร้างนวัตกรรม

สร้างแรงบันดาลใจให้นักเรียนมีความคิดริเริ่มและสร้างสรรค์นวัตกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันจะสามารถนำแนวคิดจากโครงการเหล่านี้ไปต่อยอดในการเรียนรู้เทคนิคการทดลองเคมีแบบย่อส่วนที่สามารถนำไปต่อยอดในชั้นเรียนได้จริง และนำไปปรับใช้การสร้างการทดลองและการเรียนในภาคปฎิบัติได้มากยิ่งขึ้น โดยอาศัยวัสดุในท้องถิ่นเข้ามาประยุกต์ใช้ในการทดลอง เพื่อกระตุ้นความสนใจการเรียนวิทยาศาสตร์มากขึ้น

“การส่งเสริมการเรียนวิทยาศาสตร์ นับเป็นรากฐานที่สำคัญที่ก่อให้เกิดขบวนการคิดเชิงวิเคราะห์ หรือ Analytical Thinking ให้กับเยาวชนซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญของการเรียนรู้ในทุกสาขาวิชา และการสร้างความก้าวหน้าในสาขาต่างๆ ให้เกิดขึ้น ” นายสุพจน์ กล่าว

รวมถึงการสร้างสรรค์นวัตกรรม เพื่อให้เกิดเทคโนโลยีที่สามารถตอบสนองต่อการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ ในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ  ที่จะนำมาสู่การยกระดับรายได้ของประชากร ทำให้เศรษฐกิจมีอัตราการเติบโตสูงขึ้น ( GDP)  ส่งผลให้ไทยหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง ด้วยการพัฒนาวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม

ความสำเร็จของการดำเนินโครงการการทดลองวิทยาศาสตร์แบบย่อส่วนที่ปลอดภัยและยั่งยืน” (Small-Scale Chemistry Laboratory  ได้ดำเนินการมาต่อเนื่องเป็นปีที่  9 ปี มีนักเรียนเข้าร่วมแล้ว 700 โรงเรียน มีคุณครูที่เข้าร่วมโครงการกว่า 1,600 คน และมีการนำชุดมาตรฐานการทดลองแบบย่อส่วนไปใช้ในโรงเรียนและนักเรียนทั่วประเทศแล้วกว่า 228,000 คน  Dow พร้อมเดินหน้าในการส่งเสริมการจุดประกายให้นักเรียนมีความสนใจเรียนวิทยาศาสตร์มากยิ่งขึ้น

 

  • “ดาว”  กระตุ้นไอเดียเด็กไทยรักวิทยาศาสตร์

นางภรณี กองอมรภิญโญ ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย กล่าวว่า รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ทางบริษัท ดาว ประเทศไทย ได้จัดโครงการดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง เป็นปีที่ 9 ซึ่งเชื่อว่าครูหลายๆ ท่านได้เข้าร่วมโครงการมาตั้งแต่ปีที่ 1 และเด็กๆ นักเรียน โรงเรียนต่างๆ ได้เข้าร่วมอบรมเกี่ยวกับเทคนิคปฎิบัติการเคมีแบบย่อส่วน

ดังนั้น เวทีการประกวดครั้งนี้ จะเป็นการทำให้เด็กสามารถนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ไปใช้ได้จริง  ตอบโจทย์ความท้าทายการใช้ชีวิต การเรียนการสอน รวมถึงการดูแลสิ่งแวดล้อม

“โครงการดังกล่าว เกิดจากไอเดียที่ต้องการให้เด็กไทยได้เรียนรู้วิทยาศาสตร์ เพราะต้องยอมรับว่าเด็กไทยจะรู้สึกเบื่อเมื่อต้องเรียนวิทยาศาสตร์  โดยเฉพาะวิชาที่ต้องทดลอง  เนื่องจากการทดลองส่วนใหญ่จะเป็นทดลองแห้ง ฟังครูพูด ทดลองให้ดู เด็กๆ ทำตามโดยที่ไม่ได้เข้าใจ  ขณะเดียวกันโรงเรียนขาดแคลน อุปกรณ์ วัสดุ เครื่องมือในการสอนการทดลอง  โอกาสที่เด็กๆจะได้เรียนรู้การทดลองจริงๆ และมีความเข้ารู้ความเข้าใจเป็นไปได้ยาก” นางภรณี กล่าว

ทั้งนี้ ยูเนสโก้ ระบุว่า การทดลองเคมีแบบย่อส่วนสามารถใช้ได้จริง และทำให้เด็กได้มีโอกาสเสมือนการทดลองในห้องปฎิบัติการใหญ่ๆ  โดยจะทำให้เด็กได้กระบวนการคิด เข้าใจเนื้อหา รู้จักแก้ปัญหา การวิเคราะห์ได้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งเป็นการเพิ่มโอกาสให้เด็กได้เข้าถึงการทดลอง เนื่องจากโรงเรียนในประเทศไทยจะมีโรงเรียนขนาดใหญ่เท่านั้นที่มีห้องทดลอง  

นางภรณี กล่าวต่อไปว่าการทดลองเคมีแบบย่อส่วน หรือห้องเรียนเคมีดาว ถือเป็นการส่งเสริมให้เด็กไทยได้เข้าถึงการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เพราะสามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ อยู่ที่ไหนก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นใต้ต้นไม้ ในห้องเรียน หรือเรียนที่บ้าน ขณะเดียวกันส่งผลให้ทุกคนเข้าถึงการเรียนการสอน และเด็กสามารถทดลองกี่ครั้งก็ได้ 

นอกจาก การทดลองดังกล่าวจะเข้าถึงได้ง่าย เรียนได้ทุกที่ มีความปลอดภัยสูงแล้ว ยังมุ่งเน้นการกำจัดของเสียอันตรายที่ไม่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม อดีตเมื่อต้องกำจัดของเสียจากการทดลองหลายครั้งกำจัดไม่ถูกวิธี  เช่น ทิ้งลงแม่น้ำ  ลำคลอง ท่อน้ำทิ้ง หรือทิ้งที่ไหนล้วนส่งผลเสียต่อพื้นที่นั้น แต่เมื่อเป็นแบบย่อส่วน เด็กสามารถกำจัดได้ทันที เช็ดทำความสะอาดได้  ฉะนั้น ในแง่ความปลอดภัยจึงมีสูงมาก

  • เล็งร่วมมือสพฐ. ขยายผลสู่โรงเรียนทั่วประเทศ

ปีนี้ สพฐ.เห็นความสำคัญในการจะขยายผลต่อโครงการดังกล่าว ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีมาก ยิ่งในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 การเรียนออนไลน์ ถ้าเป็นอดีตการทดลองวิทยาศาสตร์ ไม่สามารถทำได้ เพราะเด็กไม่มีอุปกรณ์ แต่เมื่อเป็นการทดลองเคมีแบบย่อส่วน เด็กสามารถหาอุปกรณ์ในบ้าน ในโรงเรียน มาทดลองได้ โดยเด็กๆ สามารถหาเครื่องมือ ใช้ของใกล้ตัว  โดยไม่ต้องใช้เงิน ปลอดภัย สนุกและเด็กได้เรียนรู้ ใครๆ ก็ทำได้นางภรณี กล่าว

การที่เด็กได้ทดลองวิทยาศาสตร์บ่อยๆ จะทำให้พวกเขาเกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เกิดทักษะความคิดวิเคราะห์ ทักษะการวางแผน การประยุกต์สิ่งของใกล้ตัวมาใช้ ที่สำคัญในโครงการยังเน้นปลูกฝังเรื่องความยั่งยืน และความปลอดภัย เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม  เพื่อใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้ใช้ได้อย่างคุ้มค่า โครงการนี้ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายมาโดยตลอด เพื่อพัฒนาคนรุ่นใหม่

อย่างไรก็ตาม การที่จะพัฒนาเด็กไทย ให้ชื่นชอบวิทยาศาสตร์ ทำให้ง่าย เข้าถึงได้ สนุก และทำการทดลองด้วยตนเอง เด็กๆ ส่วนใหญ่ชอบการคิดค้น ทดลองทำอะไรใหม่ๆ  ซึ่งการทดลองเคมีแบบย่อส่วน เด็กๆ ทุกคนทำได้ด้วยตนเอง และทดลองกี่ครั้งก็ได้ เขาจะสนุกและเกิดแรงบันดาลใจ ถ้าเด็กๆ มีความคิดว่าเรียนวิทยาศาสตร์แล้วสนุก ได้เรียนรู้ ได้ทดสอบ สนุกด้วยตนเอง จะทำให้เด็กๆ ชอบวิทยาศาสตร์

เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา มีนักศึกษาประเทศสหรัฐอเมริกามาวิจัยเด็กที่อยู่ในโครงการฯ พบว่า การเรียนวิทยาศาสตร์เคมีแบบย่อส่วน ทำให้เด็กสนใจการเรียนวิทยาศาสตร์ เข้าใจเนื้อหาของตัววิชาการ และมีแรงบันดาลใจอยากจะเรียน อยากเป็นนักวิทยาศาสตร์มากขึ้น  แสดงให้เห็นว่าเราสามารถผลิตนักวิทยาศาสตร์ได้มีคุณภาพดี และทำให้ประเทศเราเจริญได้ เพราะมีเด็กเรียนวิทยาศาสตร์มากขึ้น

“โครงการดังกล่าวจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่ได้รับความร่วมมือจากสมาคมเคมีแห่งประเทศไทยฯ อพวช. และโรงเรียน รวมถึงปีนี้ มีสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เข้าร่วมด้วย ซึ่งบริษัท ดาว เป็นบริษัทเคมี และวัสดุศาสตร์  โดยมีมีบริษัทแม่อยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เรามีนักวิทยาศาสตร์ วิจัย 4,000-5,000 คนทั่วโลก ทุกๆ วันเราจะคิดค้นวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์ความเป็นอยู่ การใช้ชีวิตของผู้คน และสิ่งแวดล้อม เพราะทุกเรื่องในชีวิตประจำวันของคนเรา ไม่ว่าจะเป็น มือถือ หรือโครงสร้างบ้านเรือน อุปกรณ์ต่างๆ ล้วนเกิดจากการคิดค้นของนักวิทยาศาสตร์ทั้งสิ้น” นางภรณี กล่าว

  • วิทยาศาสตร์ต้องเข้าใจง่าย สนุก ทดลองได้ทุกที่

นางภรณี  กล่าวต่อว่าปัจจุบันทรัพยากรในประเทศไทย หรือทั่วโลกมีน้อยลงมาก เพราะไทยมีประชากรถึง 7,000-8,000 ล้านคน การจะทำให้อยู่บนโลกใบนี้ได้อย่างยั่งยืน และร่วมกันแก้ปัญหามากมาย ไม่ว่าจะเป็น มลภาวะ ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เรื่องขยะ น้ำที่ไม่สะอาด ไม่มีใครรู้ว่าอนาคตโลกของเราจะเป็นอย่างไร ฉะนั้น มีความจำเป็นต้องคิดค้นนวัตกรรมที่คำนึกงถึงความยั่งยืน สามารถนำมาใช้ใหม่ได้ หรือสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน ทำอย่างไรให้ใช้ชีวิตและรบกวนสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด

“โครงการดังกล่าวเกิดขึ้น นอกจากกระตุ้นให้เยาวชนไทย มีโอกาสได้เรียนรู้ ฝึกฝน ทดลอง คิดค้นนวัตกรรม วิธีการแก้ปัญหาผ่านกระบวนการวิทยาศาสตร์แล้วยังเป็นการพัฒนาครูผู้สอน  ให้มีความพร้อม มีทักษะในการเตรียมการทดลองเพื่อเด็กและเยาวชนได้ทดลอง คิดค้นให้คำแนะนำแก่เด็กๆ ฉะนั้น โครงการจึงไม่ได้เพียง ปลูกฝังเยาวชนเท่านั้น แต่เป็นการช่วยครูในการสร้างห้องเรียนวิทยาศาสตร์ ลดภาระครู รวมถึงช่วยโรงเรียนลดภาระค่าใช้จ่าย การบริหารจัดการ ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นนางภรณี   กล่าว

ทั้งนี้ การทดลองวิทยาศาสตร์ ต้องเป็นการดำเนินการในระยะเวลาสั้นลง ปลอดภัยสูงขึ้น ครูและนักเรียนจึงต้องร่วมกันคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ มากขึ้น เพื่อใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ให้เกิดประโยชน์มากขึ้น และปีนี้ เป็นปีที่สพฐ.ได้เข้ามาร่วมและศึกษาความเป็นไปได้ในการขยายผลไปสู่โรงเรียนอื่นๆ ทั่วประเทศ ซึ่งทางบริษัท ดาว ประเทศไทย ก็พร้อมที่จะสนับสนุนขยายผล โครงงานวิทยาศาสตร์ด้วยเทคนิค ปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วน (DOW-CST AWARD) ไปสู่โรงเรียนขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ทั่วประเทศไทย

ปัจจุบันโครงการดังกล่าว ได้ดำเนินการมาต่อเนื่องเป็นปีที่ 9 มีคุณครู และนักเรียนเข้าร่วมแล้ว 1,055 โรงเรียน โดยคุณครูที่เข้าร่วมโครงการมากกว่า 2,000 คน และมีการนำชุดมาตรฐานการทดลองแบบย่อส่วนไปใช้ในโรงเรียน และนักเรียนทั่วประเทศแล้วกว่า 300,000 คน

สำหรับทีมชนะเลิศในโครงการดังกล่าว มีดังนี้ ผู้ชนะเลิศรางวัลยอดเยี่ยมในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ได้แก่ โรงเรียนปราจิณราษฎรอำรุง จ.ปราจีนบุรี จากโครงงาน Zero Waste & Natural Reaction

รางวัลดีเด่นอันดับ 1 ได้แก่ โรงเรียนบุณฑริกวิทยาคาร จ.อุบลราชธานี จากโครงงานทรัพย์สู่ดิน สินจากน้ำ (The Tresure from water of the Field) 

รางวัลดีเด่นอันดับ 2 ได้แก่ โรงเรียนสุรวิวัฒน์ มหาวิทยาลัยสุรนารี  จ.นครราชสีมา จากโครงงานการกำจัดโลหะด้วยเทคนิคการกรอง  

ส่วนผู้ชนะเลิศรางวัลยอดเยี่ยมในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ได้แก่ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์  จ.นครปฐม จากโครงงานการติดตามปฏิกิริยากิ้งก่าด้วยสเปกโทรสโคปี (Chameleon reaction monitoring)

รางวัลดีเด่นอันดับ 1 ได้แก่ โรงเรียนปราจิณราษฎรอำรุง จ.ปราจีนบุรี จากโครงงานปฏิกิริยาของกรดและเบส

รางวัลดีเด่นอันดับ 2 ได้แก่ โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย จ.กรุงเทพฯ จากโครงงานชุดอุปกรณ์ Small Scale จากเซลล์กัลวานิก และ โรงเรียนพิบูลวิทยาลัย จ.ลพบุรี  จากโครงการชุดตรวจวัดฐานกระดาษสำหรับวิเคราะห์น้ำตาลในเครื่องดื่ม

ทั้งนี้ ผู้ที่ชนะเลิศรางวัลยอดเยี่ยมจะได้เข้ารับพระราชทานโล่เกียรติยศจากศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ในงานประชุมวิชาการนานาชาติ Pure and Applied Chemistry International Conference (PACCON 2022) ที่จะจัดขึ้นที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ระหว่างวันที่ 30-31 พฤษภาคม 2565 

ขณะเดียวกันโครงการดังกล่าวได้เปิดโอกาสให้ครูที่ปรึกษาของแต่ละทีมที่เข้าร่วมการประกวดโครงการฯ และผ่านเข้ารอบสอง จำนวน 27 ทีม จะได้รับรางวัลครูต้นแบบ และได้รับสิทธิ์เข้าร่วมการประชุมวิชาการนานาชาติ PACCON 2022 ที่จะจัดในวันที่ 30-31 พฤษภาคม 2565 ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ซึ่งเป็นงานระดับนานาชาติที่รวบรวมนักวิทยาศาสตร์จากหลากหลายประเทศที่ได้รับรางวัลโนเบล (Nobel Prize) รางวัลประจำปีที่ยกย่องเชิดชูความสำเร็จทางสติปัญญาอันโดดเด่นของมนุษยชาติ

  • ลดปริมาณเคมีให้น้อยที่สุด ขยะเหลือศูนย์

ทีมชนะเลิศในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น “โครงงาน Zero Waste & Natural Reaction “ ผลงานของนักเรียนระดับชั้นม.2 โรงเรียนปราจิณราษฎรอำรุง จ.ปราจีนบุรี  ด.ญ.พิทยาภรณ์ โตตระกูลถาวร ด.ญ.อริสา ไอคอนรัมย์ ด.ญ.ชีวารัตน์ เสนีย์วง  ช่วยกันเล่าว่ารู้สึกดีใจมากที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในครั้งนี้ เพราะไม่ได้คาดว่าจะได้รับรางวัลชนะเลิศ โดยโครงการที่พวกเราช่วยกันทำนั้น เป็นการลดปริมาณสารเคมี

โดยใช้กระบวนการทดสอบเคมีแบบย่อส่วน ที่ได้จัดหาอุปกรณ์ที่หาได้ในบ้าน หรือในโรงเรียน เช่น นำดอกไม้มาเป็นฐานในการสกัดสารเคมี ทดลองเพื่อลดปริมาณสารเคมีให้น้อยที่สุด จะได้ลดมลภาวะ รวมถึงการจัดการขยะให้เหลือศูนย์ และนำไปต่อยอดในการทดลองอื่นๆ ต่อไปได้

โครงการนี้ มีประโยชน์ต่อพวกหนูอย่างมาก เพราะนอกจากจะได้ทำการทดลองวิทยาศาสตร์ เรียนรู้การทดลองทางเคมีที่ชื่นชอบแล้ว ยังเป็นการฝึกฝนกระบวนการคิด การวิเคราะห์ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า การทำงานเป็นทีม ซึ่งในทีมของเรานั้นจะแบ่งการทดลองเป็น 3 ช่วง” น้องๆ ทีม“โครงงาน Zero Waste & Natural Reaction” เล่า 

ด้วยสถานการณ์โควิด ทำให้น้องๆ ทีมโครงงาน Zero Waste & Natural Reaction ต้องทดลองกันคนและที่ และเมื่อมาประกวดวันนี้ พวกเขาก็ได้ทดลองทำและเรียนรู้ร่วมดัน โครงการนี้ทำให้พวกเราชื่นชอบวิชาวิทยาศาสตร์มากขึ้น เนื่องจากเรียนรู้ได้ทุกที่ ใช้อุปกรณ์ เครื่องมือที่บ้าน ที่โรงเรียนได้ และมีความปลอดภัยสูงมาก

ด้านทีมผู้ชนะเลิศรางวัลยอดเยี่ยมในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย  “โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์  จ.นครปฐม จากโครงงานการติดตามปฏิกิริยากิ้งก่าด้วยสเปกโทรสโคปี (Chameleon reaction monitoring)”ซึ่งประกอบไปด้วยน.ส.สิริยากร มาสิก นายโชติภัทร พรธนมงคล และนายกษิดิศ วิบูลย์เกียรติ นักเรียนชั้นม.6 ช่วยกันเล่าว่าโดยส่วนตัวทั้ง 3 คน สนใจและชื่นชอบการทดลองวิทยาศาสตร์อยู่แล้ว ยิ่งได้เข้ามาเรียนรู้การทดลองเคมีแบบย่อส่วน ซึ่งสามารถทดลองที่ได้ไหนก็ได้ และมีความปลอดภัยสูง ทำให้สนุก และอยากทดลองไปเรื่อยๆ โดยโครงการที่ทางทีมได้ร่วมกันทดลองการติดตามปฏิกิริยากิ้งก่าด้วยสเปกโทรสโคปี ทำให้ได้รู้ว่าสิ่งที่เราคิด สิ่งที่เราสนใจ เกิดปฎิกริยาอย่างไร

“เรารู้จักโครงการประกวดของบริษัท ดาว จากอาจารย์ที่โรงเรียนและการประชาสัมพันธ์ต่างๆ ทำให้สนใจ และมองว่าหากได้เข้าร่วมจะได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ การเรียนรู้ การทดลอง ซึ่งเมื่อได้มาเข้าร่วมทำให้ได้องค์ความรู้มากมาย ได้กระบวนการคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหา และการทำงานเป็นทีม เพราะการทดลองเคมีแบบย่อส่วน จะสำเร็จได้ ส่วนหนึ่งต้องทำงานร่วมกัน ยิ่งตอนนี้เราทั้งหมดกำลังจบม.6 และการเรียนรู้กระบวนการวิทยาศาสตร์ สามารถนำไปสู่การเรียนรู้ในคณะ และอาชีพต่างๆ ได้ ดังนั้น โครงการนี้เป็นโครงการที่ดีมาก และอยากให้เปิดโอกาสให้เด็กทุกคนได้เข้าร่วมน้องๆ ทีมโรงเรียนมหิดลฯ กล่าว